แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันนำสินค้าเข้านั้น หมายถึงวันที่ยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร มิใช่วันที่ผู้นำเข้ายื่นใบขนสินค้าเพื่อชำระภาษีอากร เมื่อสินค้าของโจทก์และของบริษัท ท. นำเข้าวันเดียวกันโดยเรือลำเดียวกัน แม้โจทก์จะยื่นใบขนสินค้าก่อนก็ไม่ถือว่าโจทก์และบริษัท ท. ได้นำสินค้าเข้ามาต่างวันกันการเปรียบเทียบราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้ากับราคาสินค้าที่บริษัท ท.นำเข้าซึ่งได้ยื่นไว้ก่อนโจทก์จึงถูกต้องแล้ว
ย่อยาว
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งซื้อหินแกรนิตที่ยังไม่ได้ตกแต่งชนิดสีดำและสีแดง จากประเทศซิมบับเว แอฟริกา และนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2534โจทก์ยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายละเอียดสินค้าชนิดสีดำราคา 464,550.53บาท ชนิดสีแดงราคา 774,438.28 บาท เจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้เพิ่มราคาสินค้าเฉพาะหินแกรนิตชนิดสีดำ ซึ่งโจทก์ยอมเพิ่มราคาสินค้าตามคำสั่งและได้ชำระภาษีอากรแล้วรับสินค้าไปจากความอารักขาของจำเลย ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2535 โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินจากกองพิธีการและประเมินอากรของจำเลยให้โจทก์ไปชำระค่าภาษีอากรเพิ่มรวม 535,087.91 บาท ราคาสินค้าที่จำเลยประเมินเพิ่มขึ้น จึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดและจำเลยไม่มีอำนาจประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหลังจากเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีคำสั่งพอใจบัญชีราคาสินค้า ทั้งโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรและรับสินค้าที่นำเข้ามาจากจำเลยแล้ว ขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินและไม่ต้องชำระภาษีอากรจำนวน 535,087.91 บาท แก่จำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขอชำระภาษีอากรสินค้าหินแกรนิตยังไม่ได้ตกแต่งชนิดสีดำอ่อนและสีแดงอ่อนโดยไม่ได้แยกราคาต่อหน่วยไว้ในบัญชีราคาสินค้า เจ้าหน้าที่ของจำเลยพอใจราคาตามที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนจึงได้ประเมินภาษีอากรหินทั้งสองชนิดรวมเป็นเงิน 825,830 บาท แล้วตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2534 ต่อมาเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบพบว่าโจทก์กับบริษัทไทยแกรนิต จำกัด ได้สั่งซื้อหินแกรนิตยังไม่ได้ตกแต่งจากบริษัทเดียวกันที่ประเทศสิงคโปร์ สินค้าดังกล่าวกำเนิดจากประเทศเดียวกันคือประเทศซิมบับเว ต้นทางประเทศบรรทุกเดียวกันคือประเทศโมซัมบิก เรือที่ใช้บรรทุกเป็นเรือลำเดียวกันเที่ยวเดียวกัน มาถึงท่าเรือกรุงเทพพร้อมกันในวันที่ 16 เมษายน 2534 เพียงแต่โจทก์ยื่นใบขนก่อนบริษัทไทยแกรนิต จำกัด เพียง 8 วันเท่านั้น แต่โจทก์ยื่นราคาต่อหน่วยของหินแกรนิตสีแดงอ่อนเพียง 602.42 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกันบริษัทไทยแกรนิต จำกัด ยื่นไว้1,200 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์ยื่นราคาต่อหน่วยชำระภาษีอากรต่ำกว่าความเป็นจริงและต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ประเมินราคาสินค้าของโจทก์เฉพาะหินแกรนิตชนิดสีแดงอ่อนเพิ่มเป็น 1,200ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อลูกบาศก์เมตร เท่ากับราคาที่บริษัทไทยแกรนิต จำกัด ได้ยื่นไว้ ซึ่งเป็นราคาสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาราคาไม่เกิน 3 เดือน ตามคำสั่งที่ 47/2531 ของกรมศุลกากร ทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มขึ้นจำนวน 514,209 บาท ซึ่งยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
สำนวนหลังโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2534จำเลยได้นำเอาสินค้าหินแกรนิตซึ่งยังไม่ได้ตกแต่ง ชนิดสีดำอ่อนจำนวน 44,384 กิโลกรัม ชนิดสีแดงอ่อน จำนวน 173,430 กิโลกรัมรวมปริมาตร 50.161 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งผลิตในประเทศซิมบับเวต้นทางบรรทุกคือประเทศโมซัมบิก เข้ามาในราชอาณาจักร โดยจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำแดงราคาสินค้าหินแกรนิตชนิดสีดำอ่อนเป็นเงิน 464,550.53 บาท และชนิดสีแดงอ่อนเป็นเงิน 774,438.28 บาท และขอชำระภาษีอากรจำนวน 825,830 บาทเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ายังไม่มีราคาท้องตลาดเปรียบเทียบ จึงยอมรับภาษีอากรตามที่จำเลยขอชำระต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบพบว่าสินค้าหินแกรนิตชนิดสีแดงอ่อนที่จำเลยสำแดงราคา 602.42 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อลูกบาศก์เมตรนั้นต่ำกว่าราคาที่บริษัทไทยแกรนิต จำกัดสำแดงไว้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 ทั้งที่เป็นสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 จึงได้ประเมินราคาสินค้าของจำเลยเฉพาะหินแกรนิตชนิดสีแดงอ่อนเพิ่มเป็น 1,200ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อลูกบาศก์เมตรเท่ากับราคาที่บริษัทไทยแกรนิตจำกัด ได้สำแดงไว้โดยอาศัยคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 47/2531ทำให้จำเลยต้องเสียภาษีอากรเพิ่ม จำนวน 514,209 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งการประเมินไปให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยไม่นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระให้แก่โจทก์ทั้งสอง และมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินหรือยื่นคำโต้แย้งภายใน 30 วัน จำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยเริ่มนับเมื่อพ้น 15 วันถัดจากเดือนภาษี เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 27,608.48 บาทและต้องเสียเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า 2,760.85 บาท รวมภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มกับเงินเพิ่มอากรต่าง ๆ เป็นเงิน 544,578.33 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีอากรจำนวน 544,578.33 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีการค้า 115,035 บาทเดือนละ 1,725.33 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์เป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า
จำเลยให้การว่า สินค้าที่จำเลยนำเข้ามีคุณสมบัติ ลักษณะและชนิดที่แตกต่างไปจากหินแกรนิตของบริษัทไทยแกรนิต จำกัดโดยสินค้าของจำเลยมีคุณภาพต่ำกว่ามาก การเปรียบเทียบราคาสินค้าของเจ้าพนักงานของโจทก์จึงไม่ชอบเพราะนำสินค้าต่างชนิดกันมามาเปรียบเทียบอันทำให้สินค้าของจำเลยถูกประเมินสูงกว่าราคาที่จำเลยซื้อมาจากผู้ขายจริง อันเป็นผลให้จำเลยต้องเสียภาษีอากรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 47/2531 เป็นคำสั่งที่ไม่ต้องด้วยความเป็นจริงในทางการค้าและไม่เป็นธรรมต่อผู้นำเข้าทั่วไป เพราะสินค้าทุกประเภทย่อมมีราคาขึ้นลงตามสภาวะการตลาดณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ทั้งคุณสมบัติเฉพาะของสินค้าจะเป็นสิ่งกำหนดราคา การที่โจทก์กำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวเช่นนั้นจึงไม่ถูกต้องและราคาซึ่งถูกกำหนดโดยคำสั่งดังกล่าว จึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางสั่งรวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนนี้เข้าด้วยกันโดยให้เรียกบริษัทนิวยอร์คหินอ่อนและแกรนิต จำกัด ว่าโจทก์เรียกกรมศุลกากรว่า จำเลยที่ 1 เรียกกรมสรรพากรว่าจำเลยที่ 2
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษจำนวน 387,660 บาท แก่จำเลยทั้งสองคำขอของจำเลยทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนอุทธรณ์ได้ จำหน่ายคดีเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองออกเสียจากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ราคาสินค้าหินแกรนิตชนิดสีแดงที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าหินแกรนิตชนิดสีแดงที่โจทก์นำเข้ามาเป็นชนิดเกรด 3 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 17 พร้อมคำแปลแผ่นที่ 18 ส่วนสินค้าที่บริษัทไทยแกรนิต จำกัด นำเข้าเป็นชนิดเกรด 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 15 พร้อมคำแปลแผ่นที่ 16ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าและมีราคาสูงกว่าสินค้าของโจทก์จึงนำราคาสินค้าของบริษัทไทยแกรนิต จำกัด มาเปรียบเทียบกับของโจทก์ไม่ได้เห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าตามที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 16 คำแปลแผ่นที่ 27กับสินค้าที่บริษัทไทยแกรนิต จำกัด นำเข้าตามที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1พร้อมคำแปลแผ่นที่ 9 ระบุไว้เพียงว่า “หินแกรนิตยังไม่ตกแต่ง”โดยไม่ได้ระบุถึงเกรดของสินค้าไว้แต่อย่างใด นอกจากนี้เอกสารที่โจทก์ยื่นประกอบพร้อมกับใบขนสินค้า และแบบแสดงรายการการค้าตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 17-25 คำแปลแผ่นที่ 28-34 ก็ไม่ได้ระบุถึงเกรดของสินค้าแม้แต่ฉบับเดียว สินค้าของโจทก์กับของบริษัทไทยแกรนิต จำกัด มีแหล่งกำเนิดในประเทศเดียวกัน ซื้อจากผู้ขายรายเดียวกันในประเทศสิงคโปร์ และนำเข้าในวันเดียวกันโดยเรือลำเดียวกัน หากเป็นสินค้าต่างเกรดกันดังที่โจทก์นำสืบแล้วก็น่าจะระบุให้ปรากฏในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้ากับเอกสารที่ยื่นประกอบพร้อมใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าเพราะสินค้าแต่ละเกรดมีราคาต่างกันมีผลทำให้ชำระภาษีต่างกันเมื่อโจทก์ไม่ได้ระบุเกรดสินค้าไว้จึงน่าเชื่อว่าสินค้าที่โจทก์กับบริษัทไทยแกรนิต จำกัด นำเข้าเป็นสินค้าเกรดเดียวกันนั่นเองที่โจทก์อุทธรณ์ว่านายลิมกิมเซียผู้จัดการฝ่ายตลาดของบริษัทลิเทียน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าให้โจทก์เบิกความว่าหินแกรนิตชนิดสีแดงที่โจทก์สั่งซื้อเป็นหินแกรนิตสีแดงชนิดเกรด 3และมีหนังสือสั่งซื้อสินค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 17 พร้อมคำแปลแผ่นที่ 18 ประกอบ เห็นว่า การสั่งซื้อและหนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องภายในที่รู้เห็นกันเองระหว่างโจทก์กับผู้ขาย ยังรับฟังไม่ได้ว่าหินแกรนิตสีแดงของโจทก์เป็นชนิดเกรด 3 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการซื้อขายของโจทก์ผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาประเทศสิงคโปร์ โดยทางเลตเตอร์ออฟเครดิต เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21-23คำแปลแผ่นที่ 24-27 นั้น เห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อเป็นหินแกรนิตสีแดงชนิดเกรด 3 ตามที่โจทก์อ้างและราคาที่ตกลงซื้อขายกันนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสองได้เสมอไปเพราะผู้ซื้อกับผู้ขายอาจลดหย่อนราคาให้แก่กันก็เป็นได้ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการนำราคาสินค้าของบริษัทไทยแกรนิต จำกัด ซึ่งได้ยื่นใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าภายหลังโจทก์มาเปรียบเทียบกับราคาสินค้าของโจทก์เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า วันนำสินค้าเข้านั้นหมายถึงวันที่ยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรมิใช่วันที่ผู้นำเข้ายื่นใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อชำระภาษีอากร เมื่อสินค้าของโจทก์และของบริษัทไทยแกรนิต จำกัดนำเข้าวันเดียวกันโดยเรือลำเดียวกัน แม้โจทก์จะยื่นใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าก่อนก็ไม่ถือว่าโจทก์และบริษัทไทยแกรนิตจำกัด ได้นำสินค้าเข้ามาต่างวันกัน การเปรียบเทียบราคาสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยถูกต้องแล้ว ราคาสินค้าหินแกรนิตสีแดงที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ามิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินภาษีอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน