คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2601/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วันนำสินค้าเข้า หมายถึงวันที่ยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร มิใช่วันที่ผู้นำเข้ายื่นใบขนสินค้าเพื่อชำระภาษีอากร เมื่อสินค้าของโจทก์และของบริษัทท.นำเข้าวันเดียวกันโดยเรือลำเดียวกันแม้โจทก์จะยื่นใบขนสินค้าก่อนก็ไม่ถือว่าโจทก์และบริษัทท.ได้นำสินค้าเข้ามาต่างวันกันการเปรียบเทียบราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้ากับราคาสินค้าที่บริษัทท.นำเข้าซึ่งได้ยื่นไว้ก่อนโจทก์เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสอง จึงถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

ศาลภาษีอากรกลางสั่งรวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนนี้เข้าด้วยกันโดยให้เรียกบริษัทนิวยอร์คหินอ่อนและแกรนิต จำกัด ว่าโจทก์ เรียกกรมศุลกากรว่าจำเลยที่ 1 เรียกกรมสรรพากรว่า จำเลยที่ 2
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษจำนวน 387,660 บาท แก่จำเลยทั้งสองคำขอของจำเลยทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนอุทธรณ์ได้ จำหน่ายคดีเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองออกเสียจากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าราคาสินค้าหินแกรนิตชนิดสีแดงที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าหินแกรนิตชนิดสีแดงที่โจทก์นำเข้ามาเป็นชนิดเกรด 3 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 17 พร้อมคำแปลแผ่นที่ 18 ส่วนสินค้าที่บริษัทไทยแกรนิต จำกัด นำเข้าเป็นชนิดเกรด 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 15 พร้อมคำแปลแผ่นที่ 16ซึ่งคุณภาพดีกว่าและมีราคาสูงกว่าสินค้าของโจทก์ จึงนำราคาสินค้าของบริษัทไทยแกรนิต จำกัด มาเปรียบเทียบกับของโจทก์ไม่ได้เห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาตามที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 16 คำแปลแผ่นที่ 27 กับสินค้าที่บริษัทไทยแกรนิต จำกัด นำเข้าตามที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 1 พร้อมคำแปลแผ่นที่ 9 ระบุไว้เพียงว่า “หินแกรนิตยังไม่ตกแต่ง” โดยไม่ได้ระบุถึงเกรดของสินค้าไว้แต่อย่างใดนอกจากนี้เอกสารที่โจทก์ยื่นประกอบพร้อมกับใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 17-25คำแปลแผ่นที่ 28-34 ก็ไม่ได้ระบุถึงเกรดของสินค้าแม้แต่ฉบับเดียวสินค้าของโจทก์กับของบริษัทไทยแกรนิต จำกัด มีแหล่งกำเนิดในประเทศเดียวกัน ซื้อจากผู้ขายรายเดียวกันในประเทศสิงคโปร์และนำเข้าในวันเดียวกันโดยเรือลำเดียวกัน หากเป็นสินค้าต่างเกรดกันดังที่โจทก์นำสืบแล้วก็น่าจะระบุให้ปรากฏในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้ากับเอกสารที่ยื่นประกอบพร้อมใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้า เพราะสินค้าแต่ละเกรดมีราคาต่างกันมีผลทำให้ชำระภาษีต่างกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้ระบุเกรดสินค้าไว้จึงน่าเชื่อว่าสินค้าที่โจทก์กับบริษัทไทยแกรนิต จำกัด นำเข้าเป็นสินค้าเกรดเดียวกันนั่นเอง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่านายลิมกิมเซียผู้จัดการฝ่ายตลาดของบริษัทลิเทียน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าให้โจทก์เบิกความว่าหินแกรนิตชนิดสีแดงที่โจทก์สั่งซื้อเป็นหินสีแดงชนิดเกรด 3 และมีหนังสือสั่งซื้อสินค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 17พร้อมคำแปลแผ่นที่ 18 ประกอบ เห็นว่าการสั่งซื้อและหนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องภายในที่รู้เห็นกันเองระหว่างโจทก์กับผู้ขาย ยังรับฟังไม่ได้ว่า หินแกรนิตสีแดงของโจทก์เป็นชนิดเกรด 3 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการซื้อขายของโจทก์ผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาประเทศสิงคโปร์ โดยทางเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 21-23 คำแปลแผ่นที่ 24-27 เห็นว่าตามเอกสารดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อเป็นหินแกรนิตสีแดงชนิดเกรด 3 ตามที่โจทก์อ้างและราคาที่ตกลงซื้อขายกันนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสองได้เสมอไป เพราะผู้ซื้อกับผู้ขายอาจลดหย่อนราคาให้แก่กันก็เป็นได้ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการนำราคาสินค้าของบริษัทไทยแกรนิต จำกัดซึ่งได้ยื่นใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าภายหลังโจทก์มาเปรียบเทียบกับราคาสินค้าของโจทก์เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า วันนำสินค้าเข้านั้นหมายถึงวันที่ยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร มิใช่วันที่ผู้นำเข้ายื่นใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อชำระภาษีอากร เมื่อสินค้าของโจทก์และของบริษัทไทยแกรนิต จำกัด นำเข้าวันเดียวกันโดยเรือลำเดียวกัน แม้โจทก์จะยื่นใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าก่อนก็ไม่ถือว่าโจทก์และบริษัทไทยแกรนิต จำกัดได้นำสินค้าเข้ามาต่างวันกัน การเปรียบเทียบราคาสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยถูกต้องแล้ว ราคาสินค้าหินแกรนิตสีแดงที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ามิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินภาษีอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share