คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2600/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โดยปกติการละเว้นกระทำไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันจะเป็นละเมิดเว้นแต่เป็นการละเว้นกระทำในเมื่อมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นจึงจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันจะเป็นละเมิด ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงินพ.ศ.2528หมวด2ข้อ6กำหนดให้ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินฉะนั้นจำเลยที่2ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินขึ้นซึ่งเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ13คือทำหลักฐานรับจ่ายเงินรับผิดชอบเงินที่รับและจ่ายรับจ่ายเงินให้ถูกต้องตามหลักฐานการรับจ่ายทำงบแสดงยอดเงินรับจ่ายและคงเหลือเสนอต่อผู้มอบเงินไปจ่ายซึ่งหากจำเลยที่2จัดให้มีเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินขึ้นโอกาสที่จำเลยที่1ซึ่งเป็นหัวหน้านายทหารการเงินและเบียดบังเอาเงินของโจทก์ที่จำเลยที่1ได้รับมอบมาเพื่อนำฝากเข้าบัญชีของหน่วยงานของโจทก์ไปก็จะไม่มีหรือยากขึ้นการที่จำเลยที่2ละเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อจึงเป็นผลโดยตรงให้จำเลยที่1เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปเป็นการละเว้นกระทำในเมื่อมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่2จึงต้องร่วมกับจำเลยที่1รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 มาตรา 17 จังหวัดทหารบกอุดร(ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร) เป็นส่วนราชการสังกัดโจทก์ ซึ่งมีโรงพยาบาลค่ายกฤษณ์สีวะราเป็นหน่วยที่ขึ้นตรงอยู่ด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายทหารสัญญาบัตรประจำการ สังกัดจังหวัดทหารบกอุดร(ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร) ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้านายทหารการเงินจำเลยที่ 2 และพันเอกภาณุ โกศลสิทธิ์ เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บังคับการ และพันเอกภาณุดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานธุรการ งานด้านการเงินและการบริหารทั่วไปนอกจากนี้พันเอกภาณุยังมีฐานะเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน ส่วนจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินแทนพันเอกภาณุในกรณีที่พันเอกภาณุไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราวตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งการและการประชาสัมพันธ์พ.ศ. 2527 ข้อ 17 เมื่อระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2529 ถึงวันที่31 กรกฎาคม 2529 คลังจังหวัดสกลนคร ได้จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลตามฎีกาชำระเงินตรงที่ 156/2529 จำนวน 120,460 บาทฎีกาชำระเงินตรงที่ 157/2529 จำนวน 120,439 บาท ฎีกาชำระเงินตรงที่ 429/2529 จำนวน 88,970 บาท ฎีกาชำระเงินตรงที่ 529/2529 จำนวน 244,118 บาท ฎีกาชำระเงินตรงที่ 530/2529จำนวน 106,516 บาท และฎีกาชำระเงินตรงที่ 590/2529 จำนวน83,677 บาท รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 764,180 บาท ให้แก่จังหวัดทหารบกอุดร (ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร)โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบแล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจังหวัดทหารบกอุดร (ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร) และมีหน้าที่เบิกเงินดังกล่าวนี้โอนหรือฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโรงพยาบาลค่ายกฤษณ์สีวะรา จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวแล้วแต่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้นำเงินโอนหรือฝากเข้าบัญชีของโรงพยาบาลค่ายกฤษ์สีวะรา แต่ได้เบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต การที่จำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเงินของจังหวัดทหารบกอุดร (ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร) จำนวน 764,180 บาทไปนั้น จำเลยที่ 2 และพันเอกภาณุต่างเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินในขณะนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยจำเลยที่ 2 และพันเอกภาณุละเลยไม่แต่งตั้งผู้ป้องกันอันตรายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกรณีที่มีการไปรับจ่ายเงินซึ่งกระทำนอกบริเวณสำนักงานการเงินและเงินที่รับจ่ายเป็นเงินสดเกินกว่า 30,000 บาท ไม่จัดเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงิน และได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเอกสารประกอบไม่ตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการเงินของจำเลยที่ 1 ให้ละเอียดถี่ถ้วนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 และพันเอกภาณุต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ต่อมาพันเอกภาณุยอมชำระเงินจำนวน 88,970 บาท ตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นให้รับผิด ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ยอมชดใช้เงินส่วนที่เหลืออีก 675,210 บาท แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 675,210 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ การเบิกเงินเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2529 จำนวน240,899 บาท และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2529 จำนวน 350,634 บาทที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิด เนื่องจากการยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวมิได้เป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้แต่งตั้งผู้ป้องกันอันตรายแต่อย่างใด และจำเลยที่ 2ได้แต่งตั้งผู้ป้องกันอันตรายตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมไว้แล้วส่วนในเรื่องไม่จัดเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินในการไปเบิกเงินนั้นเนื่องจากจังหวัดทหารบกอุดร (ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร)เป็นหน่วยซึ่งจัดทำบัญชีสำหรับส่วนราชการและมีเจ้าหน้าที่ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน พ.ศ. 2528ข้อ 20 อยู่แล้ว คือหัวหน้านายทหารการเงิน นายทหารบัญชีนายทหารควบคุมการเบิกจ่ายเงิน และนายทหารรับจ่ายเงินดังนั้น เมื่อมีนายทหารรับจ่ายเงินอยู่แล้วการจัดตั้งเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินจึงมิใช่ผลโดยตรงในการทำให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังยักยอกเงิน จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คโดยมีเอกสารประกอบการถอนเงินทุกครั้งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำการแทนพันเอกภาณุผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดเพียงเท่าที่ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน พ.ศ. 2528 ข้อ 6ให้อำนาจไว้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบควบคุมเกี่ยวกับการเงินและการบัญชีของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดเพราะหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้านการเงินเป็นหน้าที่เฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด เนื่องจากการทุจริตของจำเลยที่ 1 ส่วนการเบิกเงินในวันอื่นจำเลยที่ 2มิได้ทำการแทนพันเอกภาณุ จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 675,210 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จังหวัดทหารบกอุดร (ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร) เป็นส่วนราชการหนึ่งของโจทก์ซึ่งมีโรงพยาบาลค่ายกฤษณ์สีวะรา สังกัดจังหวัดทหารบกอุดร(ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร) ขึ้นตรงอยู่ด้วย ระหว่างปี 2526 ถึงปี2531 พันเอกภาณุ โกศลสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุดร (ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร) มีอำนาจสั่งจ่ายเงินอำนวยการและสั่งการเกี่ยวกับการเงินของจังหวัดทหารบกอุดร(ส่วนแยกที่ 1 สกลนคร) ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยผู้บังคับการ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินแทนรองผู้บังคับการในกรณีที่รองผู้บังคับการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้และจำเลยที่ 1 เป็นนายทหารการเงิน ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการเงิน มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลการเบิกเงิน การรับจ่ายเงินการเก็บรักษาเงินและการบัญชี เมื่อระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 จำเลยที่ 2 และพันเอกภาณุได้สั่งจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลค่ายกฤษณ์สีวะราหลายครั้งเป็นเงิน 764,180 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการและจำเลยที่ 1 ได้เบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์อันจะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บังคับการ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินแทนรองผู้บังคับการในกรณีรองผู้บังคับการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่จำเลยที่ 2 ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน พ.ศ. 2528 โดยไม่จัดให้มีผู้ป้องกันอันตรายในกรณีที่มีการไปรับจ่ายเงินนอกบริเวณสำนักงานการเงินและเงินที่รับจ่ายเป็นเงินสดมีจำนวนเกินกว่า 30,000 บาทไม่จัดเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงิน ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเอกสารประกอบ และไม่ตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการเงินของจำเลยที่ 1 ให้ละเอียดถี่ถ้วน อันเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยละเมิดนั้น เห็นว่า โดยปกติการละเว้นกระทำไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันจะเป็นละเมิด เว้นแต่เป็นการละเว้นกระทำในเมื่อมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น จึงจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันจะเป็นละเมิด กรณีจำเลยที่ 2 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นก็จะต้องได้ความด้วยว่าความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากการละเว้นกระทำของจำเลยที่ 2ซึ่งเกี่ยวกับเหตุที่ว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นกระทำโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน พ.ศ. 2528จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปนั้น ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน พ.ศ. 2528 หมวด 2ว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ ข้อ 6 มีว่า “ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน มีหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้ 6.9 จัดเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงิน” ฉะนั้น ตามข้อบังคับดังกล่าวจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินขึ้น เจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 13คือทำหลักฐานรับจ่ายเงิน รับผิดชอบเงินที่รับและจ่าย รับจ่ายเงินให้ถูกต้องตามหลักฐานการรับจ่าย ทำงบแสดงยอดเงินรับจ่ายและคงเหลือเสนอต่อผู้มอบเงินไปจ่ายพร้อมทั้งส่งหลักฐานและเงินเหลือจ่ายคืน ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินขึ้นโอกาสที่จำเลยที่ 1 จะเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปก็จะไปไม่มีหรือยากขึ้น จำเลยที่ 2 จะอ้างทางปฏิบัติที่ไม่เคยจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินซึ่งผิดข้อบังคับมาปฏิเสธความรับผิดของตนหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 2 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อจึงเป็นผลโดยตรงให้จำเลยที่ 1เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการละเว้นกระทำในเมื่อมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ คดีไม่ต้องวินิจฉัยถึงเหตุอื่นที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ละเมิดต่อโจทก์อีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 591,533 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share