คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2600/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีฐานะเพียงผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นทายาทและไม่ได้เป็นผู้รับมรดกตามกฎหมาย เพราะสิทธิการรับมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัวมิได้ถือเอาการครอบครองทรัพย์ของผู้ตายเป็นเกณฑ์เจ้าหนี้ของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้เอาทรัพย์สินจากกองมรดกชำระหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบุญมีได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 35,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันนายบุญมีผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เลย ต่อมานายบุญมีถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายบุญมี และเป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินดังกล่าวและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่อยู่กินฉันสามีภรรยากับนายบุญมีจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายบุญมีอันจะมีสิทธิในกองมรดก ไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่นายบุญมีก่อไว้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 66,062 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 35,000 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (14 มกราคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้เอาทรัพย์สินกองมรดกของนายบุญมี ภูกองชนะ ชำระหนี้ให้ทั้งนี้ไม่เกินกว่าทรัพย์สินกองมรดกที่มีอยู่ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 800 บาท หากไม่สามารถบังคับชำระหนี้ดังกล่าวได้ให้บังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 ต่อไป
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2526 นายบุญมี ภูกองชนะ สามีจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 35,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน นายบุญมีผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2527 และได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2529 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นทายาทและเป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดกของนายบุญมีต้องรับผิดชดใช้หนี้จากกองมรดกแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เปลี่ยนนามสกุลเดิมของตนมาใช้นามสกุลของนายบุญมีในทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนเห็นว่า โจทก์ไม่สามารถนำทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายบุญมีมาแสดงต่อศาลได้ จึงน่าเชื่อตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1ว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายบุญมีตั้งแต่ พ.ศ. 2495 แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ใช่ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายบุญมี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของนายบุญมี และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของนายบุญมี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยแต่ที่จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์มรดกอันได้แก่ที่นา 1 แปลง และที่ดินที่ใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัยนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเพียงผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นทายาทและไม่ได้เป็นผู้รับมรดกตามกฎหมายเพราะสิทธิการรับมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัวมิได้ถือเอาการครอบครองทรัพย์ของผู้ตายเป็นเกณฑ์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ครอบครองดูแลทรัพย์มรดกเอาทรัพย์สินจากกองมรดกชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share