แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองผสมกับยาเส้นจากใบยาพันธุ์เวอร์ยีเนียเป็นยาเส้นปรุง
ยาเส้นบรรจุกระป๋องปิดแสตมป์ไปบ้างแล้วแต่ไม่ครบถ้วน เป็นการเตรียมเพื่อนำออกจำหน่าย จึงต้องปิดแสตมปืให้ครบถ้วน เมื่อไม่ปิดแสตมป์ให้ครบถ้วนมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 48
ความผิดฐานมีแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไว้ในครอบครองตามมาตรา 43 นั้น เพียงแต่มีแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไว้ในครอบครองเพื่อนำออกใช้ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำต้องนำแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไปใช้อีกเสียก่อนจึงจะเป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมคือ ประกอบอุตสาหกรรมยาเส้นปรุงเพื่อการค้าโดยไม่รับอนุญาต มีแสตมป์ยาสูลที่ใช้แล้วไว้ในครอบครองเพื่อนำออกใช้อีก ปิดแสตมป์ยาสูบบนสลากผิดวิธีตามประกาศและปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๔,๕,๑๗,๑๘, ๑๙,๔๒,๔๓,๔๗,๔๘,๔๙,๕๓ พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๔ ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่องวิธีการปิดและขีดฆ่าแสตมป์ยาสูบ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ กฎกระทรวงฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๑๒ ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ รายการ (๗) ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ริบยาเส้นปรุง ๒๐ ลัง เมนทอล ๔ กระป๋อง น้ำยายี่ห้อบาร์เนทโฟสเตอร์ ๘ ขวด น้ำยาที่ผสมแล้ว ๕ ขวด เคื่องพ่นน้ำยา ๑ ชุด แสตมป์ที่ใช้แล้ว ๓๔๐ ดวง ของกลางนอกนั้นคืนจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ฐานประกอบอุตสากรรมยาเส้นปรุงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา ๑๗ ประกอบด้วยมาตรา ๔๘ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๑๖ ให้ปรับ ๔,๐๐๐ บาท ฐานมีแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไว้ในความครอบครองเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ใช้แล้วตามมาตรา ๔๓ ประกอบด้วยมาตรา ๕๓ ให้ปรับ ๒,๐๐๐ บาท ฐานปิดและขีดฆ่าแสตมป์ยาสูบไม่เป็นไปตามวิธีการที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๔๒ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๑๕ และประกาศกรมสรรพาสามิต เรื่องวิธีการปิดและขีดฆ่าแสตมป์ยาสูบ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ให้ปรับ ๕๐๐ บาท ฐานปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา ๑๙ ประกอบด้วยมาตรา ๔๙ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๑๗ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๑๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา (๗) ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ให้ปรับ ๒๖,๒๙๖.๒๐ บาท รวมปรับจำเลย ๓๒ฐ๗๙๖.๒๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบยาเส้นปรุง ๒๐ ถัง เมนทอล ๔ กระป๋อง น้ำยายี่ห้อบาร์เนทโฟสเตอร์ ๘ ขวด น้ำยาที่ผสมแล้ว ๕ ขวด เครื่องพ่นน้ำยา ๑ ชุด แสตมป์ที่ใช้แล้ว ๓๔๐ ดวง ส่วนของกลางนอกนั้นคืนจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดทุกข้อหาตามฟ้องแต่ความผิดฐานปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนเป็นความผิดตามมาตรา ๑๘ ประกอบด้วย มาตรา ๔๘ ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๙ ประกอบด้วยมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ไม่ถูกต้อง จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๑๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ตามมาตรา ๑๘ ประกอบด้วยมาตรา ๔๘ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๒ มาตรา ๑๖ ให้ปรับจำเลย ๖,๐๐๐ บาท รวมปรับจำเลย ๑๒,๕๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในข้อหาความผิดฐานปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนซึ่งจำเลยฎีกาว่า ยาเส้นที่ถูกจับไม่ใช่ยาเส้นปรุง จำเลยปิดแสตมป์ยาเส้นในจำนวน ๑๐ กรัม ต่อ ๑ สตางค์ เป็นการถูกต้องแล้ว จึงไม่มีความตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๑๘ และจะเป็นความผิดตามมาตรา ๑๘ ประกอบด้วยมาตรา ๔๘ จะต้องเป็นกรณีทำยาเส้นเสร็จแล้วจะนำออกจากโรงงานอุตสาหกรรมของจำเลยจึงต้องปิดแสตมป์เสียก่อนนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ายาเส้นของกลางบรรจุกระป๋องเป็นยาเส้นปรุงโดยใช้ยาเส้นจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองกับยาเส้นจากใบยาพันธุ์ยาสูบเวอร์ยิเนียผสมกัน ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าเป็นยาเส้นปรุง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยที่ว่า จำเลยยังทำยาเส้นไม่เสร็จการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๑๘ ประกอบด้วยมาตรา ๔๘ ต้องเป็นกรณีจำเลยทำเสร็จแล้วเตรียมส่งออกจำหน่าย จะต้องปิดแสตมป์ให้ครบถ้วน เห็นว่า ยาเส้นปรุงบรรจุกระป๋องจำนวน ๒๒๐๒ กระป๋องของกลาง จำเลยได้ปิดแสตมป์แล้ว แสดงอยู่ว่าจำเลยได้ทำยาเส้นปรุงเสร็จแล้ว ส่วนการเตรียมส่งออกจำหน่ายจำเลยก็รับว่าจำเลยผลิตส่งไปขายทั่วๆ ไป จึงเป็นการเตรียมเพื่อนำออกจากโรงงานของจำเลยไปจำหน่ายซึ่งยาเส้นปรุง ต้องปิดแสตมป์ยาสูบให้ครบจำนวนก่อนนำออกจากโรงงานของจำเลย จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๑๘ ประกอบด้วยมาตรา ๔๘ ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา
จำเลยฎีกาข้อ ข. ในความผิดฐานมีแสตมป์ยาสูบใช้แล้วไว้ในความครอบครองเพื่อนำออกใช้อีก จำเลยฎีกาว่าจะเป็นความผิดต้องได้ความชัดว่าจำเลยได้นำแสตมป์ยาสูบใช้แล้วไปใช้อีก เห็นว่า มาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙ บัญญัติไว้ชัดว่ามีแสตมป์ยาสูบใช้แล้วไว้ในความครอบครองเพื่อนำออกใช้อีก ก็เป็นความผิดแล้ว กรณีจึงมิใช่ต้องนำแสตมป์ยาสูบใช้แล้วไปใช้อีกเสียก่อนจึงจะเป็นความผิดดังจำเลยเข้าใจ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน