แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353โดยบรรยายฟ้องว่า “จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของผู้เสียหาย ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมครอบครองรถยนต์บรรทุกของผู้เสียหายกลับนำรถยนต์บรรทุกที่ได้รับมอบหมายไปรับจ้างขนดินโดยทุจริต”เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้เสียหายตามนัยบทมาตราดังกล่าว ฟ้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดจะลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 353 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์ 210 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชนืแก่การพิจารณาคดีลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ 210 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของผู้เสียหาย ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมครอบครองรถยนต์บรรทุกของผู้เสียหาย กลับนำรถยนต์บรรทุกที่ได้รับมอบหมายไปรับจ้างขนดินโดยทุจริต เห็นว่า คำว่าได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุมครอบครองทรัพย์สิน ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้นั้นมีความหมายแตกต่างกับคำว่าได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้เสียหายฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทมาตรานี้ จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องโจทก์หาได้ไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.