คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2598/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต้องยื่นต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีการส่งหนังสือบอกกล่าวแจ้งคำชี้ขาดไปถึงผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 30 มิใช่นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาด
ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระต้นเงินจำนวน 6,194,347.66 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 จำนวน 1,069,967.49 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 จนกว่าผู้คัดค้านจะชำระเสร็จ ส่วนอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระต้นเงินจำนวน 6,194,347.66 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 จำนวน 1,542,263.52 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จนกว่าผู้คัดค้านจะชำระเสร็จ เหตุที่จำนวนดอกเบี้ยที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดวินิจฉัยมากกว่าจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้ร้องเรียกร้องเนื่องจากการคำนวณดอกเบี้ยถึงระยะเวลาชำระต่างกัน แต่จำนวนดอกเบี้ยที่ผู้คัดค้านจะต้องชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งหมดจะเท่ากันคือคิดตั้งแต่วันที่ผู้คัดค้านผิดนัดจนถึงวันที่ผู้คัดค้านชำระเสร็จ จำนวนดอกเบี้ยที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดวินิจฉัยจึงไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
อัตราดอกเบี้ยผิดนัดระบุไว้ในสัญญากู้เงินอยู่แล้ว แม้ผู้ร้องมิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยที่เรียกร้องเอาแก่ผู้คัดค้านมาในคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง อนุญาโตตุลาการก็กำหนดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้ได้ไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ส่วนคำชี้ขาดวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก็อยู่ในขอบเขตของคำร้องเสนอข้อพิพาท คำชี้ขาดวินิจฉัยจึงไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเช่นกัน กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 34 (4)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบกิจการซื้อขายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อื่นรวมทั้งน้ำตาลและธัญพืชทุกชนิด ผู้ร้องมอบอำนาจให้นายชวลิต อัตถศาสตร์ และ/หรือนายรุ่งแสง กฤตยพงษ์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2540 ผู้คัดค้านได้ทำสัญญากู้เงินจากผู้ร้องเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทย 160,000,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ร้องในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และชำระต้นเงินให้เสร็จภายใน 3 ปี หากผู้คัดค้านผิดสัญญาและผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ไปยังผู้คัดค้านแล้วผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามและไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ให้ถือว่าต้นเงินกู้และดอกเบี้ยถึงกำหนดชำระทันที และผู้คัดค้านจะต้องชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บจากลูกค้า (US Prime Rate บวกร้อยละ 2 ต่อปี) ตามสัญญาเงินกู้ข้อ 17 กำหนดว่า หากมีข้อพิพาทใดๆ เกิดขึ้นตามสัญญากู้เงิน ให้ระงับข้อพิพาทดังกล่าวโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อบังคับการประนอมข้อพิพาทและการอนุญาโตตุลาการของหอการค้าระหว่างประเทศ ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2540 ผู้คัดค้านได้รับเงินกู้ตามสัญญาจำนวน 6,194,347.66 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 160,000,000 บาท ผู้คัดค้านได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ร้องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 หลังจากนั้นผู้คัดค้านก็มิได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ร้องอีก ผู้ร้องได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไปยังผู้คัดค้านแต่ผู้คัดค้านเพิกเฉย ผู้ร้องจึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังผู้คัดค้านเพื่อหาทางแก้ไขข้อพิพาทร่วมกัน แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉย ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทดังกล่าวเสนอต่ออนุญาโตตุลาการของหอการค้าระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2543 เพื่อดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยได้มีการส่งสำเนาคำร้องให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แต่ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำให้การเข้ามาในคดี ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2544 อนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทว่า ข้อเรียกร้องของผู้ร้องนั้นมีมูลเหตุที่จะอ้างกฎหมายได้ โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้ชนะคดี และกำหนดให้ผู้คัดค้านชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินจำนวน 1,542,263.52 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญากู้เงินในอัตราร้อยละ 8 บวกอีกร้อยละ 2 ต่อปี (US Prime Rate) นับจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินและดอกเบี้ยตามที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดพร้อมดอกเบี้ยถึงวันยื่นคำร้องขอ รวมเป็นจำนวน 8,568,976.68 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้ร้อง และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญากู้เงินในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 6,194,347.66 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันยื่นคำร้องขอจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านให้การว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นนิติบุคคล การมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีเขตอำนาจดำเนินคดีนี้ ผู้ร้องมิได้ส่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 30 คดีเป็นอันขาดอายุความ ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน สัญญากู้เงินตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่ผู้คัดค้านทำกับนายซากาอิ โทริซาวา เป็นการส่วนตัว มิได้ทำสัญญากับผู้ร้อง อีกทั้งบริษัทผู้ร้องไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน หากผู้ร้องให้บุคคลภายนอกกู้เงินจริงย่อมเป็นการกระทำนอกวัตถุประสงค์อันไม่มีผลผูกพันผู้ร้อง การที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการต่างประเทศดำเนินการเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบ ผู้ร้องไม่มีอำนาจนำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาด คำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน เพราะคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้นตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 34 (1) สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ผู้ร้องไม่ได้ส่งคำแปลเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 และ 4 ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 31 (3) ให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านไม่เคยทราบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ทั้งผู้ร้องหรือสำนักงานอนุญาโตตุลาการต่างประเทศไม่เคยแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านไม่อาจเข้าต่อสู้คดีต่ออนุญาโตตุลาการต่างประเทศ อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในเรื่องจำนวนเงินที่ผู้คัดค้านต้องชำระเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศโดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังต่อไปนี้แก่ผู้ร้อง
1. เงินต้น 6,194,347.66 ดอลลาร์สหรัฐ
2. ดอกเบี้ยตามสัญญากู้นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 เป็นเงิน 1,542,263.52 ดอลลาร์สหรัฐ
3. ดอกเบี้ยกรณีผิดนัดตามสัญญากู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บจากลูกค้า (US. Prime Rate) ในวันที่มีคำชี้ขาดซึ่งเท่ากับร้อยละ 8 ต่อปี บวกด้วยร้อยละ 2 ต่อปี ของต้นเงิน 6,194,357.66 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จนกว่าจะมีการชำระครบถ้วน
4.ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินอนุญาโตตุลาการจำนวน 63,234 ดอลลาร์สหรัฐ
หากจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่ขายเงินดอลลาร์สหรัฐให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงิน ให้ถือเอาอัตราแลกเปลี่ยนในวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันใช้เงิน และในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2540 ผู้คัดค้านได้ทำสัญญากู้เงินโดยมีข้อตกลงว่า ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับสัญญากู้เงินให้ทำการยุติข้อพิพาทภายใต้กฎข้อบังคับเกี่ยวกับการประนอมข้อพิพาท และอนุญาโตตุลาการของหอการค้าระหว่างประเทศ โดยอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นซึ่งแต่งตั้งตามกฎข้อบังคับดังกล่าวตามเอกสารหมาย ร.1 ผู้คัดค้านได้รับเงินกู้แล้ว ต่อมาผู้ร้องเห็นว่าผู้คัดค้านผิดสัญญาจึงนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านมิได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการมิได้ยื่นคำคัดค้าน และมิได้ร่วมการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2544 ให้ผู้คัดค้านรับผิดชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.17 ผู้คัดค้านมิได้ชำระเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ ประเทศไทย สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ.1958)
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกมีว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้ดำเนินคดีโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องมีหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนการค้าแห่งเมืองซุค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ข้อบังคับในการก่อตั้งและดำเนินงานของบริษัทผู้ร้อง หนังสือรับรองของกรรมการบริษัทผู้ร้องและหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีโนตารีปับลิครับรองความถูกต้องของลายมือชื่อของบุคคลที่มีอำนาจทำเอกสารดังกล่าวปรากฏตามเอกสารหมาย ร.4 และ ร.25 ถึง ร.27 มาแสดงเป็นพยานหลักฐานให้เห็นว่าผู้ร้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายใต้กฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้มอบอำนาจให้นายชวลิต อัตถศาสตร์ และนายรุ่งแสง กฤตยพงษ์ ดำเนินคดีนี้ ผู้คัดค้านเพียงแต่ให้การปฏิเสธความเป็นนิติบุคคลและการมอบอำนาจไว้ลอย ๆ โดยหาได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่นแต่ประการใดไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยในความเป็นนิติบุคคลของผู้ร้องและความถูกต้องแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจ นอกจากนั้นผู้คัดค้านยังได้ยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า หนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้นายชวลิต อัตถศาสตร์ และ/หรือนายรุ่งแสง กฤตยพงษ์ ดำเนินคดีแทน เอกสารหมาย ร.27 มิได้ปิดอากรแสตมป์จึงถือว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจที่ทำขึ้นในต่างประเทศเมื่อได้ทำถูกต้องตามกฎหมายของประเทศที่ได้มีการทำหนังสือมอบอำนาจย่อมสมบูรณ์และรับฟังเป็นพยานหลักฐานในศาลได้ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องนำสืบว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลต่างประเทศและผู้ร้องได้มอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกินระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 30 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีนี้ บัญญัติว่า “เมื่อคู่กรณีฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตามมาตรา 29 ให้คู่กรณีฝ่ายนั้นยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณี ตามมาตรา 21 วรรคสี่…” ข้อเท็จจริงได้ความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายชวลิตผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องประกอบหนังสือบอกกล่าวแจ้งคำชี้ขาดของสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของหอการค้าระหว่างประเทศ และใบแสดงผลการส่งหนังสือของบริษัท ดี เอช แอล อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตามเอกสารหมาย ร.13 และ ร.14 ว่าหนังสือบอกกล่าวซึ่งแนบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ส่งถึงผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2544 ที่บ้านเลขที่ 158/7 ถนนจรัสเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้คัดค้านตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ร.1 ผู้คัดค้านไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างว่าการส่งหนังสือของบริษัทผู้จัดส่งไม่ชอบอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่าหนังสือบอกกล่าวแจ้งคำชี้ขาดได้ส่งถึงผู้คัดค้านในวันดังกล่าวโดยชอบผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 คำร้องขอของผู้ร้องจึงยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว กำหนดระยะเวลา 1 ปี หาได้นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2544 อันเป็นวันที่อนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์แต่ประการใดไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมีว่า กรณีมีเหตุตามกฎหมายที่ผู้คัดค้านจะขอให้ศาลทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าผู้คัดค้านทำสัญญากู้เงินกับนายซากาอิ โทริซาว่า เป็นการส่วนตัวมิได้ทำสัญญากับผู้ร้อง ผู้คัดค้านไม่เคยทราบการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการแต่เริ่มแรกจนถึงการส่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้คัดค้าน การกู้เงินกำหนดให้ชำระเงินกู้คืนโดยการโอนหุ้นให้แก่ผู้ให้กู้ แต่ผู้ร้องกลับขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้เป็นตัวเงินและคำชี้ขาดวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สำหรับข้ออุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่าผู้คัดค้านทำสัญญากู้เงินกับนายซากาอิเป็นการส่วนตัวมิได้ทำสัญญากับผู้ร้องนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ร.1 ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าผู้ร้องเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้กู้โดยมีนายซากาอิลงนามในสัญญาในฐานะตัวแทนของผู้ร้องตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.3 ทั้งการโอนเงินกู้ตามเอกสารหมาย ร.16 ให้แก่ผู้คัดค้านก็ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้โอนเงินให้ ผู้คัดค้านอ้างเพียงลอย ๆ ว่าไม่เคยรู้เห็นหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าพยานของผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่สัญญากับผู้คัดค้านไม่เคยทราบการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงการส่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เห็นว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย ร.1 ข้อ 15 ระบุว่า หนังสือบอกกล่าวภายใต้สัญญานี้จะถือว่าได้นำส่งโดยชอบเมื่อได้นำส่งไปยังที่อยู่ของผู้คัดค้านเลขที่ 158/7 ถนนจรัสเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงกับที่อยู่ของผู้คัดค้านตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร เอกสารหมาย ร.2 ผู้ร้องนำสืบโดยแสดงหนังสือของสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของหอการค้าระหว่างประเทศและใบแสดงผลการส่งเอกสารบริษัท ดี เอช แอล อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตามเอกสารหมาย ร.5 ถึง ร.14 อันแสดงให้เห็นว่าสถาบันอนุญาโตตุลาการได้รับคำร้องเสนอข้อพิพาทจากผู้ร้องจึงแจ้งให้ผู้คัดค้านยื่นคำให้การและเสนอแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ แต่ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี สถาบันอนุญาโตตุลาการจึงมีหนังสือแจ้งไปยังผู้คัดค้านว่าได้แต่งตั้งนายตัน กอก ควน เป็นอนุญาโตตุลาการผู้เดียวและจะดำเนินการพิจารณาไปตามกฎของไอ ซี ซี ซึ่งหนังสือแจ้งทุกฉบับถูกส่งไปยังบ้านเลขที่ 158/7 ดังกล่าวข้างต้นโดยมีผู้ที่อยู่ในบ้านดังกล่าวลงนามรับหนังสือตามที่นายประสาท สิทธี พนักงานของบริษัท เอช แอล อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด พยานผู้ร้องเบิกความยืนยัน นอกจากนั้นนายตัน กอก ควน ยังมีหนังสือแจ้งข้อกำหนดในการดำเนินกระบวนพิจารณาและตารางเวลาพิจารณาคดีชั้นอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านทราบอีกหลายครั้งปรากฏตามเอกสารหมาย ร.33 ถึง 43 ฝ่ายผู้คัดค้านนำสืบปฏิเสธลอย ๆ ว่าไม่เคยได้รับหนังสือหรือเอกสารใด ๆ จากสถาบันอนุญาโตตุลาการหรือผู้ที่เป็นอนุญาโตตุลาการทั้ง ๆ ที่หนังสือได้ส่งไปยังบ้านที่ผู้คัดค้านได้ระบุไว้เองในสัญญา พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานของผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีการแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว ส่วนข้ออุทธรณ์ที่ผู้คัดค้านอ้างว่า การกู้เงินกำหนดให้ชำระเงินกู้คืนโดยการโอนหุ้นให้แก่ผู้ให้กู้แต่ผู้ร้องกลับขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้เป็นตัวเงินนั้น เห็นว่าผู้คัดค้านมิได้ให้การต่อสู้เรื่องดังกล่าวไว้ในคำให้การ ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวของผู้คัดค้านจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับข้ออุทธรณ์ที่ว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระต้นเงินจำนวน 6,194,347.66 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 จำนวน 1,069,967.49 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 จนกว่าผู้คัดค้านจะชำระเสร็จ ส่วนอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระต้นเงินจำนวน 6,194,347.66 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 จำนวน 1,542,263.52 ดอลลาร์สหรัฐและดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จนกว่าผู้คัดค้านจะชำระเสร็จ เหตุที่จำนวนดอกเบี้ยที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดวินิจฉัยมากกว่าจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้ร้องเรียกร้องตามที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ก็เนื่องจากการคำนวณดอกเบี้ยถึงระยะเวลาชำระต่างกันแต่จำนวนดอกเบี้ยที่ผู้คัดค้านจะต้องชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งหมดจะเท่ากันคือคิดตั้งแต่วันที่ผู้คัดค้านผิดนัดจนถึงวันที่ผู้คัดค้านชำระเสร็จจำนวนดอกเบี้ยที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดวินิจฉัยจึงไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ตามคำเสนอข้อพิพาทผู้ร้องไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกร้องเอาแก่ผู้คัดค้าน แต่อนุญาโตตุลาการกลับกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญากู้ในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีนั้น เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ร.1 ข้อ 7 อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องมิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยที่เรียกร้องเอาแก่ผู้คัดค้านในคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง และอนุญาโตตุลาการกำหนดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้จึงไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ส่วนคำชี้ขาดวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก็อยู่ในขอบเขตของคำร้องเสนอข้อพิพาท คำชี้ขาดวินิจฉัยจึงไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเช่นกัน กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 34 (4) อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 80,000 บาท แทนผู้ร้อง.

Share