คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2593/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในวันรับคำฟ้องของโจทก์ว่า “ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้” มีความหมายว่า โจทก์ได้ทราบถึงผลการส่งหมายในวันส่งนั้น ปรากฏว่าศาลยังมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าส่งหมายเรียกให้จำเลยไม่ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) อันจะเป็นการทิ้งฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยร่วมกันและแทนกันใช้เงิน ๓๔,๕๗๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๗ เจ้าพนักงานศาลรายงานศาลว่าได้ไปส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๗ แต่ส่งไม่ได้ ศาลชั้นต้นให้รอฟังโจทก์ ต่อมาวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๗ เจ้าพนักงานศาลรายงานว่า โจทก์ไม่แถลงให้ศาลทราบภายใน ๗ วัน ตามที่ศาลสั่งในฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันโจทก์ยื่นฟ้อง(๓ มิถุนายน ๒๕๑๗) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รับคำฟ้องหมายส่งสำเนาให้จำเลย ถ้าส่งไม่ได้ ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน ๗ วันนับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” และปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๗ ว่า ฝ่ายโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบแล้วว่าส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในวันรับคำฟ้องของโจทก์ว่า “ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน ๗ วันนับแต่วันส่งไม่ได้” มีความหมายว่า โจทก์ได้ทราบถึงผลการส่งหมายในวันส่งนั้น แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลยังมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าส่งหมายเรียกให้จำเลยไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีโอกาสทราบถึงผลของการส่งหมายเรียกจำเลย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔(๒) ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ดำเนินการส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยใหม่ แล้วดำเนินการต่อไป
(รื่น วิไลชนม์ สนับ คัมภีรยส สมชัย ทรัพยวณิช)

Share