คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมฯ ไม่ได้บัญญัติถึงกรณีขอรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยผู้เยาว์นั้นไม่มีบิดามารดาที่จะให้ความยินยอมได้ไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ซึ่งได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1598/21 ซึ่งบัญญัติว่า ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรมมาใช้บังคับ และคำว่า ‘ศาล’ ในมาตรานี้หมายถึงศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาเพราะมาตรา 8แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 163 ข้อ 1 มิได้บัญญัติว่ากรณีเช่นนี้อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชน ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ย่อมยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นเพื่อให้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/21 ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของเด็กชายอัมพรพงษ์ผู้เยาว์ตามคำสั่งของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ผู้ร้องที่ 2 เป็นสามีของผู้ร้องที่ 1 และเป็นลุงเขยของผู้เยาว์ ผู้ร้องทั้งสองประสงค์จะรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม แต่กรมประชาสงเคราะห์และที่ว่าการเขตไม่ยอมรับจดทะเบียนให้ อ้างว่าต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตเสียก่อน ผู้ร้องทั้งสองจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองรับเด็กชายอัมพรพงษ์ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งที่จะพิจารณาพิพากษาจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา

ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าสาระสำคัญแห่งคำร้องของผู้ร้องทั้งสองอยู่ที่ว่า การที่ผู้ร้องไม่สามารถขอจดทะเบียนรับเด็กชายอัมพรพงษ์ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมได้ เนื่องจากผู้เยาว์ปราศจากบิดาและมารดาที่จะให้ความยินยอมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1598/21 พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 มาตรา 20 บัญญัติว่า ‘ผู้ใดประสงค์จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งหนังสือแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ฯลฯ ‘ แต่ผู้ร้องทั้งสองไม่มีหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเพราะปรากฏตามสำเนาคำสั่งของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางท้ายคำร้องของผู้ร้องทั้งสองว่า บิดาของเด็กชายอัมพรพงษ์ผู้เยาว์เป็นคนสาปสูญและศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับมารดา ต่อมามารดาก็ถึงแก่กรรมอีก การรับเด็กชายพรพงษ์ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจึงไม่มีบิดามารดาที่จะให้ความยินยอมได้ ตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 ไม่ได้บัญญัติถึงการที่จะให้ได้ความยินยอมในกรณีเช่นนี้ไว้ จึงต้องอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1598/21 ซึ่งบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรม และคำว่าศาลในมาตรานี้หมายถึง ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาเพราะมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 163 ข้อ 1มิได้บัญญัติว่า กรณีเช่นนี้อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนทั้งกรณีของผู้ร้องที่ 1 ก็ยังไม่อยู่ในขั้นตอนที่จะดำเนินคดีในศาลคดีเด็กและเยาวชนได้ตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพ.ศ. 2522 ดังนั้น ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ย่อมยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นเพื่อให้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1598/21 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ไว้พิจารณานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ฟังขึ้น ส่วนผู้ร้องที่ 2 มิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายอัมพรพงษ์ผู้เยาว์ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1598/21 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ไว้พิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ร้องที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ไว้และดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1598/21 วรรคสอง สำหรับคำร้องของผู้ร้องที่ 2 นั้น ให้ยกเสีย

Share