คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนของหมั้น สินสอด และชดใช้ค่าเสียหายเพราะผิดสัญญาหมั้นแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 169,500 บาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท และไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 หมั้นและสมรสกันตามประเพณีศาสนาอิสลาม ระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยา จำเลยที่ 1 ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ตามกฎหมาย และจำเลยที่ 1 ปฏิเสธที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีกต่อไป การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 คืนสร้อยข้อมือทองคำหนัก 2 บาท ราคา 12,000 บาท ของหมั้น ให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เงิน 12,000 บาท แทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินสินสอด 50,000 บาท ชดใช้ค่าใช้จ่าย 7,500 บาท และค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 100,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 169,500 บาท
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนของหมั้น สินสอด และชดใช้ค่าเสียหาย เพราะผิดสัญญาหมั้นแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 169,500 บาท จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท และไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองผิดข้อตกลงตามสัญญาหมั้นขอให้บังคับตามฟ้อง จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของโจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share