แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ญี่ปุ่นสำหรับใบมีดโกนซอยผมที่โจทก์ผู้ผลิตส่งมาขายในประเทศไทย จำเลยเป็นแต่ผู้สั่งสินค้ามาจำหน่าย โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย
การฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 41 หาจำเป็นต้องมีการบอกกล่าวก่อนฟ้องไม่
ย่อยาว
จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “NEW FLOWER” สำหรับใบมีดโกนซอยผมก่อนโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนการค้าไม่ให้ขัดขวางการขอจดทะเบียนของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีหลักฐานการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.17 และ จ.18 แสดงว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2498 ใช้กับสินค้าใบมีดโกนซอยผมซึ่งบริษัทโจทก์เป็นผู้ผลิตและได้จดทะเบียนลวดลายประดิษฐ์สำหรับใช้ประกอบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2512 อีกด้วย ทั้งโจทก์ยังนำสืบได้ความด้วยว่า สินค้าใบมีดโกนซอยผมซึ่งมีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 10 ปีแล้ว เดิมพ่อค้าสั่งเข้ามาจำหน่ายโดยผ่านทางบริษัทซันโซเทรดดิ้งซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งสินค้าออกของประเทศญี่ปุ่น ตามทางนำสืบของจำเลยฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยเป็นพ่อค้าผู้จำหน่ายสินค้าใบมีดโกนซอยผมโดยสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นเข้ามาจำหน่ายและสั่งซื้อครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509 เท่านั้น ที่จำเลยอ้างว่าเครื่องหมายการค้ารายพิพาทจำเลยเป็นผู้คิดทำขึ้นเองแล้วส่งไปให้โรงงานในต่างประเทศทำสินค้าส่งมาให้จำเลยนั้น ไม่น่าเชื่อ เพราะจำเลยเป็นเพียงผู้จำหน่ายไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าใบมีดโกนซอยผม ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้านี้ขึ้นใช้สำหรับสินค้าซึ่งผู้อื่นเป็นผู้ผลิต ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อนำสืบของโจทก์ โจทก์สามารถแสดงได้ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ฟังว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าโจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า การฟ้องละเมิดในเรื่องเครื่องหมายการค้านั้นจำต้องมีการบอกกล่าวก่อน เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้มีการบอกกล่าวก็ชอบที่ศาลจะยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทซึ่งจำเลยจดทะเบียนไว้ก่อน โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลยเป็นการฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41 ซึ่งหาจำต้องมีการบอกกล่าวก่อนฟ้องไม่”
พิพากษายืน