คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2576/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขาดงานโดยลาหยุดพักผ่อนไม่ถูกต้องตามระเบียบเพราะไม่ยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจให้ลา และการลาไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสถานที่ที่โจทก์ทำงานจะไม่เคร่งครัดในการลา และโจทก์พูดขอลาทางโทรศัพท์ต่อ ป. พนักงานของจำเลย แล้วข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อที่จะนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ลาโดยฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยหรือไม่เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ยื่นใบลาโดยฝ่าฝืนระเบียบ และไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชามีผลเป็นการขาดงานแล้ว การที่โจทก์ได้พูดโทรศัพท์ขอลาต่อ ป. ก็มิใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ขาดงานโดยมีเหตุอันสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ครั้งสุดท้ายเป็นพนักงานขับรถ ระดับ ๓ ได้รับค่าจ้างวันละ ๑๒๒ บาท จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ อ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรเกินกว่าเจ็ดวันทำการ (ตามข้อบังคับจำเลย) โจทก์มิได้กระทำผิดตามข้อบังคับจำเลย จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในระดับตำแหน่งเดิม อัตราค่าจ้างเท่าเดิมหากรับโจทก์กลับเข้าทำงานไม่ได้ ขอให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน๓๖,๐๐๐ บาท และค่าชดเชยจำนวน ๒๑,๙๖๐ บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๕ ว่าด้วยการจ้าง การแต่งตั้ง การออกจากตำแหน่งวินัย และการลงโทษของลูกจ้าง ข้อ ๓๑ โดยเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๓๒ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่สถานีย่อยนครสวรรค์ โดยโจทก์จะต้องขับรถยนต์ของจำเลยกลับมาเก็บไว้ที่ทำการของจำเลย เขต ๔จังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ ๒๙ เดือนนั้น โจทก์โทรศัพท์จากสถานีย่อยพิษณุโลก ๑ จังหวัดพิษณุโลก มาที่ทำการเขต ๔ ขอลาพักผ่อน ๔ วันตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๒ ต่อนายประเสริฐ กลิ่นขจร ลูกจ้างของจำเลย นายประเสริฐทักท้วงให้โจทก์มาเขียนใบลาเสนอผู้บังคับบัญชาให้ถูกต้อง โจทก์ไม่ปฏิบัติตามนายประเสริฐรายงานผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติให้โจทก์ลาพักผ่อน และวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๒ โจทก์ต้องมาทำงาน แต่โจทก์ขาดงานไปจนถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๒ โดยไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๒ โจทก์มาทำงานและนำใบสำคัญความเห็นแพทย์มาแสดงต่อจำเลยเพื่อประกอบการลาระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๒ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๒ เพื่อให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ขาดงานโดยมีเหตุอันสมควร จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์และไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันเพียง ๖ วสัน ไม่ใช่เป็นเวลา ๗วันทำการ การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้างโดยให้นับอายุงานใหม่ของโจทก์ติดต่อกับอายุงานที่คำนวณถึงวันที่ ๙พฤศจิกายน ๒๕๓๒ อันเป็นวันก่อนวันเลิกจ้างด้วย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนดคดีแรงงานวินิจฉัยวข้อกฎหมายว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า โจทก์ขาดงานระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๒ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๒ โดยการลาหยุดพักผ่อนไม่ถูกต้องตามระเบียนคือไม่ยื่นใบลาเป็นหนังสือต่อนายจรัญผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการให้ลา และการลานั้นไม่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา แม้จะฟังว่าในสถานประกอบการที่โจทก์ทำงานอยู่นั้นไม่เคร่งครัดในการลาและโจทก์ได้พูดขอลาทางโทรศัพท์ต่อนายประเสริฐแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงข้อที่จะนำมาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ลาโดยฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ยื่นใบลาโดยฝ่าฝืนระเบียบและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชามีผลเป็นการขาดงานแล้ว การที่โจทก์ได้พูดโทรศัพท์ขอลาจากนายประเสริฐหาใช่เป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ขาดงานโดยมีเหตุอันสมควรไม่ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่า โจทก์ขาดงานตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๒ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๒ โดยมีเหตุอันสมควรนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โจทก์ขาดงานในช่วงเวลาดังกล่าวโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นแต่อย่างใด การขาดงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม๒๕๓๒ ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๒ จึงเป็นการขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามที่จำเลยอุทธรณ์ เมื่อนับวันที่ ๓ ถึง ๙ มิถุนายน ๒๕๓๒ที่โจทก์ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางรวมเข้าด้วยแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรเกินเจ็ดวันทำการติดต่อกัน การที่จำเลยมีคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.๑๑ปลดโจทก์ออกจากงานในความผิดฐานละทิ้ง หรือทอดทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลสมควรเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการ จึงเป็นการถูกต้องตามข้อบังคับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๕ ว่าด้วยการจ้างการแต่งตั้ง การออกจากตำแหน่งวินัย และการลงโทษของลูกจ้าง เอกสารหมาย ล.๙ ข้อ ๓๑(๗) แล้วมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิขอกลับเข้าทำงานหรือเรียกร้องค่าเสียหาย
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง.

Share