คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2576/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งแรกของบริษัทจำเลย ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของรถร่วมนำรถประจำทางมาลงหุ้นแทนเงิน โดยถือเสมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินเต็มมูลค่าหุ้นแล้ว รวม 6,355 หุ้น ต่อมาได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2 รับรองรายงานการประชุมครั้งแรกโดยที่ประชุมขอให้ลงมติยืนยันการประชุมครั้งแรกอีกครั้ง ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์อีก แม้โจทก์จะมิได้เข้าประชุมครั้งหลังนี้ก็ต้องถือว่าที่ประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยได้มีมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเพิ่มทุนอีก 6,345 หุ้น โดยการนำรถประจำทางมาใช้แทนเงินและถือเสมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินเต็มมูลค่าหุ้นแล้ว เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าบริษัทจำเลยรับรถยนต์ที่ได้ลงหุ้นไว้แล้วมาลงหุ้นใหม่ และรับรถยนต์ที่อยู่ระหว่างเช่าซื้อมาเป็นหุ้นใหม่อีกก็เท่ากับโจทก์กล่าวหาว่า การลงมติของที่ประชุมฝ่าฝืนกฎหมายและโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนกรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องขอให้เพิกถอน มติของที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมาตรา1195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า โจทก์ต้องร้องขอให้เพิกถอนภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันลงมติเมื่อโจทก์ไม่ร้องเสียในกำหนดดังกล่าว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะร้องขอต่อศาล
เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยคู่ความมิได้ยกขึ้นต่อสู้หรือกะประเด็นไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยจดทะเบียนทุนไว้ 2 ล้านบาท โจทก์มีหุ้นอยู่ 25 หุ้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2514 ได้จดทะเบียนเพิ่มหุ้นใหม่อีก 6,635 หุ้น ๆ ละ 1,000 บาท รวมเป็น 7,769 หุ้น การจดทะเบียนเพิ่มทุนนี้ ทางกระทรวงเศรษฐการได้อนุญาตและรับจดทะเบียนแล้ว แต่บริษัทจำเลยทำไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ขอให้พิพากษาว่าการเพิ่มหุ้น 7,769 หุ้นนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยดำเนินการร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มหุ้น

จำเลยให้การว่า บริษัทจำเลยได้จดทะเบียนเพิ่มทุนจริง โดยได้กระทำตามกฎหมายและข้อบังคับ ทั้งได้กระทำไปโดยสุจริต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

มีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการเพิ่มทุนหรือไม่ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์รับว่าโจทก์ได้เข้าประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรก คือ การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2514 ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของรถร่วมนำรถประจำทางมาลงหุ้นแทนเงิน โดยถือเสมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินเต็มมูลค่าหุ้นแล้ว มีทั้งหมด 29 คน รวม 6,355 หุ้น ซึ่งรวมทั้งนายเซ่งบุ้นที่นำรถยนต์ทะเบียน ส.ป.00125 และนายงี่ฮั้ว ที่นำรถยนต์ทะเบียน ส.ป.00160 มาเข้าหุ้นที่เพิ่มใหม่นี้ด้วย ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2514 ได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2514 รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 1/2514 โดยที่ประชุมขอให้ลงมติยืนยันการประชุมครั้งแรกอีกครั้งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์อีก แม้โจทก์จะมิได้เข้าประชุมครั้งหลังนี้ก็ตาม ก็ถือว่าที่ประชุมใหญ่ของบริษัทจำเลยได้มีมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเพิ่มทุนอีก 6,355 หุ้น โดยการนำรถประจำทางมาใช้แทนเงิน และถือเสมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินเต็มมูลค่าหุ้นแล้ว เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าบริษัทจำเลยรับรถยนต์ที่ได้ลงหุ้นไว้แล้วมาลงหุ้นใหม่ และรับรถยนต์ที่อยู่ระหว่างเช่าซื้อมาเป็นหุ้นใหม่อีก ก็เท่ากับโจทก์กล่าวหาว่าการลงมติของที่ประชุมฝ่าฝืนกฎหมาย และโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุน กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมาตรา 1195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า โจทก์ต้องร้องขอให้เพิกถอนภายใน 1 เดือนนับแต่วันลงมติ ศาลอุทธรณ์ยกบทบัญญัติของมาตรานี้ขึ้นมาวินิจฉัยว่า โจทก์หมดสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลนั้นชอบแล้ว

โจทก์ฎีกาอีกข้อว่า เมื่อจำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้เรื่องอายุความฟ้องร้อง และมิได้กะประเด็นไว้ เมื่อไม่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น ข้อนี้เห็นว่าปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้หลายเรื่องแล้วว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง โดยคู่ความมิได้ยกขึ้นต่อสู้หรือกะประเด็นไว้ดังโจทก์ฎีกา

พิพากษายืน

Share