คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยตั้งใจเข้าไปเก็บเอาไม้กฤษณาเพื่อนำออกไปขายหาเลี้ยงชีพ แต่ก่อนที่จำเลยจะได้ไม้กฤษณามาเพื่อนำออกไปขาย จำเลยได้ตัดโค่นต้นไม้กฤษณาและเซาะต้นไม้กฤษณาเป็นชิ้นแล้วรวบรวมไว้ซึ่งเป็นเจตนาและการกระทำต่างหากจากการครอบครองเพื่อนำออกไปขาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คดีขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าโทษที่ศาลล่างลงแก่จำเลยเหมาะสมหรือไม่ แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำไม้หวงห้าม และมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 , 73 การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๒๙ , ๒๙ ทวิ , ๗๑ ทวิ , ๗๔ , ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ , ๓๑ , ๓๕ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๓๘ , ๕๔ , ๕๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ , ๘๓ , ๙๑ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๑๑ , ๒๙ วรรคหนึ่ง , ๗๑ ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ , ๓๑ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง , ๕๔ วรรคหนึ่ง , ๕๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง , ๕๔ วรรคหนึ่ง , ๕๗ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกคนละ ๑ ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๒๙ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๗๑ ทวิ อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ ๖ เดือน รวมจำคุกคนละ ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๙ เดือน ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นความผิด และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาเดียวกันตั้งแต่ต้น คือ จำเลยทั้งสองตั้งใจที่จะเข้าไปเก็บเอาไม้กฤษณาเพื่อนำออกไปขายหาเลี้ยงชีพ ซึ่งน่าจะมองได้ว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีเพียงเจตนาเดียว น่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวเท่านั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองตั้งใจที่จะเข้าไปเก็บเอาไม้กฤษณาเพื่อนำออกไปขายหาเลี้ยงชีพ แต่ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะได้ไม้กฤษณามาเพื่อนำออกไปขาย จำเลยทั้งสองได้ตัดโค่นต้นไม้กฤษณาและเซาะต้นไม้กฤษณาเป็นชิ้นแล้วรวบรวมไว้ ซึ่งเป็นเจตนาและการกระทำต่างหากจากการครอบครองเพื่อนำออกไปขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาดังกล่าวเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยทั้งสองนั้นเหมาะสมหรือไม่ แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยศาลฎีกาเห็นว่า แม้การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงเครื่องมือที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดซึ่งเป็นเพียงมีดและขวานที่ไม่ปรากฏว่ามีขนาดใหญ่เพียงใด และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ทำการโค่นต้นไม้เป็นบริเวณกว้างเพียงใด ไม้กฤษณาที่จำเลยทั้งสองรวบรวมมาได้มีน้ำหนักเพียง ๗ กิโลกรัม การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาต และได้ความจากฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีอาชีพทำไร่ การเก็บหาไม้กฤษณาดังกล่าวไปก็เพื่อนำไปขายหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อโจทก์รับสำเนาฎีกาแล้วไม่แก้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว อันเป็นการกระทำเพื่อการยังชีพของตนเองและบุคคลในครอบครัว ซึ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในยามนี้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงหาเป็นการร้ายแรงเท่าใดนัก เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสองเคยกระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุกมาก่อน ตามสภาพแห่งการกระทำความผิดสมควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสอง เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสองได้กลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสองเข็ดหลาบและยำเกรงต่อกฎหมาย สมควรปรับจำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่ง
อนึ่ง คดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำไม้หวงห้าม และมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๑๑ , ๗๓ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๑๑ และศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา ๒๑๕ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๑๑ ให้ปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๓๘ , ๕๔ วรรคหนึ่ง คนละ ๕,๐๐๐ บาท กับปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๒๙ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๗๑ ทวิ คนละ ๑,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับจำเลยทั้งสองคนละ ๖,๐๐๐ บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับคนละ ๓,๐๐๐ บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.

Share