แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ80ถึง90กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อขับรถมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีรถแล่นอยู่ข้างหน้าเห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ตัดข้ามถนนจำเลยใช้สัญญาณแตรเตือน2ครั้งก่อนหักหลบไปทางขวาแต่ผู้ตายตกใจเร่งเครื่องยนต์พุ่งออกมาอีกจำเลยห้ามล้อรถยนต์แล้วแต่ไม่สามารถหยุดรถได้ทันทีเมื่อปรากฏว่าเส้นทางเดินรถของจำเลยเป็นทางเอกซึ่งผู้ตายจะต้องหยุดรอให้รถของจำเลยผ่านไปก่อนประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนการที่ผู้ตายเห็นแสงไฟรถของจำเลยยังขับข้ามถนนจนเกิดชนกันขึ้นเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะหลีกเลี่ยงได้จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลที่อยู่ในภาวะเช่นจำเลยต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้วแม้รอยห้ามล้อรถจำเลยจะยาวประมาณ22เมตรก็ไม่อาจบ่งชี้ว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของรถที่แล่นสวนมาเมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยกระทำโดยประมาทจึงฟังลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้นายทองเจือกับนางสาวอนงค์วดีถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางจันทรา ภู่แย้ม ภรรยาของนายทองเจือภู่แย้ม ผู้ตาย กับเรือเอกวีระ เพ็ชรสุวรรณ บิดาของนางสาวอนงค์วดี เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยเรียกนางจันทราเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 และเรือเอกวีระเป็นโจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 2 ปี
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่าตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1พ-2301 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนเพชรเกษมจากทางอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ มุ่งหน้าไปทางอำเภอบางสะพานเมื่อถึงสี่แยกบ้านกรูดได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์กระบะชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนประจวบคีรีขันธ์ ช-2507 ที่ช่องเดินรถสวนทางขวามือของจำเลยรถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์ต่างได้รับความเสียหายตกถนนทางด้านขวามือนายทองเจือ ภู่แย้มคนขับ และนางสาวอนงค์วดี เพ็ชรสุวรรณ คนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวถึงแก่ความตาย ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่า พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบเพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมคงมีแต่ร้อยตำรวจโทสุคนธ์ เนียมเพราะพนักงานสอบสวน เบิกความว่า หลังเกิดเหตุได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์ตกอยู่ในคูข้างทางในช่องเดินรถฝั่งตะวันตกพยานได้สอบถามบุคคลซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเห็นเหตุการณ์จึงได้ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจร แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ และถ่ายรูปประกอบไว้ตามเอกสารหมาย จ.4,จ.5 กับภาพถ่ายหมาย จ.6 พยานสันนิษฐานว่า จำเลยคงขับรถยนต์กระบะแซงรถยนต์คันอื่นไปทางขวา ขณะเดียวกันผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ข้ามถนนจากฝั่งตะวันออกไปทางฝั่งตะวันตก จึงเกิดการเฉี่ยวชนกันจำเลยนำสืบว่า จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 80 ถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อขับมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ ไม่มีรถแล่นอยู่ข้างหน้าเห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ตัดข้ามถนน จำเลยใช้สัญญาณแตรเตือน2 ครั้ง ก่อนจะหักหลบไปทางขวา แต่ผู้ตายตกใจเร่งเครื่องยนต์พุ่งออกมาอีก จำเลยห้ามล้อรถยนต์แล้ว แต่ไม่สามารถหยุดรถได้ทันได้ความจากร้อยตำรวจโทสุคนธ์ว่า ในชั้นจับกุมจำเลยก็ให้การไว้ดังนี้ คำเบิกความของจำเลยจึงมีน้ำหนักในการรับฟัง เมื่อปรากฏว่าเส้นทางเดินรถของจำเลยเป็นทางเอกซึ่งผู้ตายจะต้องหยุดรอให้รถของจำเลยผ่านไปก่อน และเหตุคดีนี้เกิดเวลากลางคืนการที่ผู้ตายเห็นแสงไฟรถของจำเลยแล้วยังขับข้ามถนนจนเกิดชนกันขึ้น เป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะหลีกเลี่ยงได้ จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลที่อยู่ในภาวะเช่นจำเลยต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว แม้รอยห้ามล้อรถจำเลยจะยาวประมาณ 22 เมตรก็ไม่อาจบ่งชี้ว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของรถที่แล่นสวนทางมา เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลจึงจะลงโทษจำเลยได้ แต่ที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะฟังว่า จำเลยกระทำโดยประมาท คดีจึงฟังลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง