คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า “ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป” ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พินัยกรรมตัดผู้คัดค้านจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเพื่อจะนำไปฟังว่าผู้คัดค้านมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายประทีป ผู้ตาย กับยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวนของศาลชั้นต้น ผู้ร้องแถลงสละประเด็นตามคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ใช่บุตรของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมของนางพร้อม และข้อกำหนดในพินัยกรรมของผู้ตายที่ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ผู้ตายและให้ผู้ร้องตามลำดับที่ว่า ยกทรัพย์มรดกให้แต่เพียงผู้เดียวและรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ข้อความว่ารักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้นมีผลผูกพันหรือให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เห็นว่า พินัยกรรมทั้งสองฉบับของนางพร้อมและผู้ตายเป็นข้อกำหนดพินัยกรรมตั้งผู้รับพินัยกรรมคือ ผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความว่ารักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้นเป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย ที่ผู้คัดค้านอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 941/2516 ระหว่างนายทองอินทร์ โจทก์ นายสุดจิตต์ จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2518 ระหว่างนายหนม โจทก์ นางผม จำเลย ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่อง เป็นกรณีที่พินัยกรรมมิได้ตั้งผู้รับพินัยกรรม แต่ตั้งผู้จัดการมรดกกับผู้จัดการทรัพย์สินเพื่อจัดการให้แก่บุคคลอื่นซึ่งอาจทราบตัวแน่นอนได้จึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (2) ข้อเท็จจริงแตกต่างกับคดีนี้ซึ่งพินัยกรรมตั้งผู้ตายและผู้ร้องรับทรัพย์มรดกเพียงผู้เดียว
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนางพร้อมและของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนางพร้อมตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียว และผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าว ผู้ตายยกให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความที่ว่า ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใดๆในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พินัยกรรมตัดผู้คัดค้านจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเพื่อจะนำไปฟังว่าผู้คัดค้านมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share