คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปที่กลุ่มคนหมู่มากและอยู่ในที่จำกัดบนรถยนต์โดยสารที่จำเลยโดยสารมาด้วย ถือได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าโดยย่อมเล็งเห็นผล เมื่อมีผู้ถูกกระสุนปืนทั้งถึงแก่ความตายและไม่ตาย จำเลยต้องมีความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยมีอาวุธปืนขนาด .38 หมายเลขทะเบียนกท.747494 ซึ่งเป็นของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายจำนวน 1 กระบอก และมีกระสุนปืน ขนาด .38 จำนวน 6 นัด ที่ใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และได้พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายเทพฤทธิ์ เสืออิ่ม นางก้องเกียรติ สัมมาตริ นายพิชิตฉัตรเนตร นายสุวิทย์ ขำสุนทร และนายวิชัย รุประมาณ จำนวน6 นัด โดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นายเทพฤทธิ์ถึงแก่ความตายส่วนบุคคลอื่นนั้นจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นไม่ถึงแก่ความตาย เพียงแต่เป็นเหตุให้นายวิชัยได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ส่วนนายสุวิทย์ นายพิชิต และนายก้องเกียรติได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 32, 33, 90, 91พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 772 ทวิริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายสาโรจน์ เสืออิ่ม บิดาของนายเทพฤทธิ์เสืออิ่ม ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต(ที่ถูกอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา)

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288, 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288อันเป็นกฎหมายหลายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกจำเลยตลอดชีวิต และจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคสาม และ 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่น จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 จำคุก 33 ปี 4 เดือน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคสาม จำคุก 8 เดือน และมาตรา 72ทวิ วรรคสอง จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 20 เดือน ริบของกลางและให้ยกฟ้องฐานพยายามฆ่านายวิชัย รุประมาณ ผู้เสียหายที่ 4

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69และมาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80, 69 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 15 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นและฐานพาอาวุธปืนแล้ว เป็นจำคุก10 ปี 16 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปจริง และนายเทพฤทธิ์ เสืออิ่มถูกกระสุนปืนดังกล่าวถึงแก่ความตาย ส่วนผู้เสียหายทั้งสี่ถูกกระสุนปืนบาดเจ็บ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันซึ่งจำเลยฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยกระทำเพื่อป้องกันตนแต่พอสมควรแก่เหตุนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายและผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นนักเรียนโรงเรียนศิลปพระนครสำหรับผู้เสียหายที่ 4 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่ง ส่วนจำเลยเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ผู้เสียหายทั้งสี่กับจำเลยต่างเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ในช่วงเวลาเกิดเหตุนักเรียนโรงเรียนผู้ตายมีเรื่องกับนักเรียนโรงเรียนอื่น เหตุเกิดตอนเช้าบนรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 95 ซึ่งผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสี่นั่งมา ขณะนั้นมีผู้โดยสารเต็มคันรถ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายณัฐพงศ์ พุทธชนะ เพื่อนนักเรียนโรงเรียนเดียวกับผู้ตายและนางสาวจิราภรณ์ นิ่มนวน นักเรียนโรงเรียนรัตนะพาณิชยการซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า พวกพยานขึ้นรถยนต์คันเกิดเหตุที่ป้ายอื่นก่อนจำเลย ส่วนจำเลยขึ้นที่ป้ายสามัคคีเมื่อจำเลยขึ้นรถแล้ว จำเลยเดินมาพูดกับนายณัฐพงศ์ซึ่งเคยอยู่โรงเรียนเดียวกันสมัยชั้นมัธยม ขณะนั้นนายณัฐพงศ์ยืนอยู่ข้างที่นางสาวจิราภรณ์นั่ง นางสาวจีราภรณ์เบิกความว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว พอจำเลยกับนายณัฐพงศ์ยืนพูดกันได้สักประเดี๋ยว จำเลยก็ล็อกคอนายณัฐพงศ์พร้อมกับชักอาวุธปืนออกมาจากเอวนางสาวจีราภรณ์ลุกขึ้นผลักตัวนายณัฐพงศ์ออกไป ทันใดนั้น จำเลยก็ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงไปที่กลุ่มของผู้เสียหายซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังเป็นจำนวนหลายนัดติดต่อกัน ความข้อนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีผู้เสียหายทั้งสี่กับนายณัฐพงศ์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนส่วนจำเลยเบิกความต่อสู้ว่า พวกผู้ตายและผู้เสียหายมีจำนวนถึง4 คน และมีทีท่าจะทำร้ายจำเลยซึ่งมาคนเดียวก่อน ครั้นเมื่อจำเลยถูกชายผู้หนึ่งล็อกคอดิ้นไม่หลุด จึงต้องดึงอาวุธปืนออกมาขู่อีก ทั้งมีผู้หญิงลุกขึ้นผลักจำเลยและมีการยื้อแย่งอาวุธปืนดังกล่าวในมือจำเลยเป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่นขึ้น 4 นัด ได้ความว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายและผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 กับนายณัฐพงศ์ต่างเดินทางไปเรียนหนังสือตามปกติ ไม่ปรากฏพฤติการณ์อันส่อแสดงว่า ฝ่ายผู้ตายและผู้เสียหายจะก่อการวิวาทแต่ประการใด ส่วนจำเลยกลับเตรียมอาวุธปืนมาพร้อม เมื่อคำนึงว่า ฝ่ายผู้เสียหายต่างไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ปัญหาเรื่องจำเลยจะถูกปรับปรำใส่ร้ายจึงไม่มี ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยจะต้องกระทำเพื่อป้องกันตนโดยใช้อาวุธปืนขู่ก็ดีหรือที่ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสี่ถูกกระสุนปืนของจำเลยเนื่องจากการแย่งอาวุธปืนกันก็ดี จึงไม่มีเหตุอันควรเชื่อและฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้ การที่จำเลยใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงไปที่กลุ่มคนหมู่มากและอยู่ในที่จำกัดจึงไม่เป็นการป้องกันและย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโดยย่อมเล็งเห็นผลเมื่อมีผู้ถูกกระสุนปืนทั้งถึงแก่ความตายและไม่ตาย จำเลยต้องมีความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนข้อหาฐานมีและพาอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนของกลางของผู้อื่น ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีความผิดนั้น แม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายพิศิษฐ์ น้อยใจบุญ พยานจำเลยผู้เป็นเจ้าของของกลางว่า จำเลยเป็นผู้รับฝากสิ่งของดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างส่งมอบคืนแก่เจ้าของก็ตาม เห็นว่า การที่จำเลยนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปก่อเหตุร้ายย่อมไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดในข้อหาดังกล่าวไปได้ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งรูปคดีประกอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจในการวางโทษของศาลอุทธรณ์เป็นลงโทษสถานเบาหรือลดมาตราส่วนโทษและรอการลงโทษให้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วจะฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มิใช่เป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น ศาลฎีกาจึงแก้ไขโดยบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share