แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
องค์ประกอบความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ข้อ 26,30 จะต้องมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายตามหลักฐานทางบัญชีในรอบปีบัญชี พ.ศ.2515 เป็นสารสำคัญโจทก์ต้องบรรยายในฟ้องให้ปรากฏว่าในรอบปีบัญชี พ.ศ.2515 จำเลยมีปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายของธุรกิจตามหลักฐานทางบัญชีเป็นจำนวนเท่าใดและในการที่จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าให้เพิ่มปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายของธุรกิจในรอบปีบัญชี พ.ศ.2518 เป็นจำนวนเงิน255,000,000 บาท นั้น เป็นการเกินกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายตามหลักฐานทางบัญชีในรอบปีบัญชี พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นการแสดงว่าจำเลยได้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนเงื่อนไขตามกฎหมาย เมื่อในฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทแองโกล-ไทย (กรุงเทพฯ) จำกัด จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายรอดเน่ย วิลล์มอทท์ฟิลกริม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นคนต่างด้าวโดยมีคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นและคนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามบัญชี ข. หมวด 3(1) และบัญชี ค. หมวด 1(1)หมวด 1(3) หมวด 3(1) ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 คือการค้าปลีกสินค้าทุกชนิด การค้าส่งสินค้าทุกชนิดในประเทศการค้าปลีกสินค้าเครื่องจักรเครื่องกลและเครื่องมือและการประกอบธุรกิจบริการ รับจ้างการธุรกิจศึกษา และวิจัยตลาดรับจ้างค้ำประกัน ในบัญชี พ.ศ. 2518 (ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2518ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2519) จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายได้ไม่เกิน 255,000,000 บาท
เมื่อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2518 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2519ทั้งเวลากลางวันกลางคืนติดต่อกันอันเป็นระยะเวลาปีบัญชี พ.ศ. 2518จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวในฐานะส่วนตัว ได้บังอาจร่วมกันประกอบธุรกิจดังกล่าวมีปริมาณการจำหน่ายทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 259,166,477 บาท อันเป็นการเพิ่มปริมาณการจำหน่ายเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าเป็นจำนวนเงิน 4,166,477 บาท เหตุที่เกิดที่แขวงสุรวงศ์ เขตบางรักกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3, 4, 26, 30 และสั่งให้จำเลยทั้งสองเลิกประกอบธุรกิจดังกล่าวด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธและตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามที่โจทก์กล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นอีกต่อไป พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามบทลงโทษแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 มี 2 ข้อ ประกอบกันคือ ข้อ 30 และข้อ 26
ข้อ 30 บัญญัติว่า “คนต่างด้าวซึ่งประกอบธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้อยู่แล้วในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับจะประกอบธุรกิจนั้นต่อไปได้ต่อเมื่อได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีซึ่งต้องอยู่ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ฯลฯ
(2) ธุรกิจตามบัญชี ข. และ ค. ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้จะประกอบธุรกิจต่อไปได้โดยไม่มีกำหนดเวลา แต่ห้ามมิให้ผู้รับหนังสือรับรองเพิ่มปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายของธุรกิจนั้นในรอบปีบัญชีต่อ ๆไป เกินกว่าร้อยละสามสิบของปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายของธุรกิจนั้นตามที่ปรากฏหลักฐานทางบัญชีในรอบปีบัญชี พ.ศ. 2515 หรือตั้งสาขาของธุรกิจนั้นเพิ่มขึ้นจากที่ปรากฏหลักฐานในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ฯลฯ
ข้อ 26 บัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้ใดประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนข้อ 4 ฯลฯหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือรับรอง ตามข้อ 30 ต้องระวางโทษ ฯลฯ”
ฉะนั้น องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องดังกล่าว จึงต้องมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายตามหลักฐานทางบัญชีในรอบปีบัญชี พ.ศ. 2515 เป็นสารสำคัญ กล่าวคือ โจทก์ต้องกล่าวบรรยายมาในฟ้องให้ปรากฏว่าในรอบปีบัญชี พ.ศ. 2515 จำเลยที่ 1 มีปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายของธุรกิจตามหลักฐานทางบัญชีเป็นจำนวนเท่าใด และในการที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าให้เพิ่มปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายของธุรกิจในรอบปีบัญชี พ.ศ. 2518 เป็นจำนวนเงิน245,000,000 บาท นั้นเป็นการเกินกว่าร้อยละสามสิบของปริมาณการผลิตหรือการจำหน่ายตามหลักฐานทางบัญชีในรอบปีบัญชี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนเงื่อนไขตามกฎหมาย เมื่อในฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวฟ้องของโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
พิพากษายืน