คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาว่า การกระทำตามฟ้องคดีนี้ต่างกรรมต่างวาระกัน ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยมิได้ฎีกา ปัญหาดังกล่าวจึงยุติและถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่แล้ว จำเลยจะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาอีกไม่ได้ เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมกล่าวคือ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2532 เวลาใดไม่ปรากฎชัดจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไว้ โดยจำเลยที่ 2 ได้กรอกข้อความว่า”ข้าพเจ้า นายเชื่อม สมทรัพย์ ได้รับเงินจากนายมานิตย์ วรวงษ์จากการขายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน น-1522 มหาสารคามเป็นเงิน 100,000 บาท และนายมานิตย์ได้รับรถยนต์โตโยต้าสีแดงคืนแล้ว ส่วนสัญญาที่ทำขึ้นวันที่ 11 กันยายน 2 ฉบับ คือสัญญาซื้อขายกับสัญญากู้ยืมเงินซึ่งนายเชื่อมบอกว่าหาย ถือว่ายกเลิกทั้งสองได้อ่านข้อความเข้าใจ จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน”ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงและโจทก์มิได้ยินยอมทั้งกระทำเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และผู้อื่น ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2532เวลากลางคืน จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้และอ้างเอกสารปลอมดังกล่าวโดยให้จำเลยที่ 3 นำมาอ้างต่อโจทก์ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง นอกจากนั้นในวันที่ 29 กันยายน 2532 เวลาใดไม่ปรากฎชัด จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมเอกสารลงในแผ่นกระดาษมีข้อความว่า “นายเชื่อม สมทรัพย์ได้รับเงินจำนวน 100,000 บาท จากนายมานิตย์ วรวงษ์ไว้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว และนายมานิตย์ได้จ่ายเงินอีก 40,000 บาทใช้หนี้เงินกู้ยืมคืนแก่นายเชื่อม สมทรัพย์ พร้อมกับได้รับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าสีแดง หมายเลขทะเบียน น-7354 ร้อยเอ็ดคืนจากนายเชื่อมแล้ว” แล้วร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์และนางสายกรม ศิริวรรณ ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง และกระทำเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 264, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 3ถึงที่สุด
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ฟ้องซ้ำ ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 268 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสอง โดยวางโทษตามมาตรา 264 เพียงกระทงเดียวจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,83 จำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 418/2533 และ 419/2533 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าในปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาลงวันที่27 มิถุนายน 2534 พิพากษาว่า การกระทำตามฟ้องคดีนี้ต่างกรรมต่างวาระกัน ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยที่ 1 ที่ 2มิได้ฎีกาปัญหาดังกล่าวจึงยุติและถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาอีกไม่ได้ เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ชอบ”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2

Share