แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
น.ค.3 เป็นเพียงหลักฐานที่จะไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินตาม ป. ที่ดินได้เท่านั้น มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินนิคมสร้างตนเองของบางปะกง (นิคมกสิกรบางปะกง) แปลงเลขที่ 386ในผังจัดแบ่งนิคม ตำบลบางเกลือ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราในส่วนที่ดินด้านทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ตามแผนที่พิพาทท้ายฟ้อง กับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ โดยให้รื้อถอนทรัพย์สินต่าง ๆ ออกไปทั้งหมด และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางบุญมา หอมจันทร์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งเจ็ดและจำเลยร่วมให้การว่า ได้ครอบครองที่พิพาทต่อจากมารดา โดยโจทก์ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นเวลาเกินกว่า10 ปีแล้ว คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมที่พิพาทอยู่ในเขตจัดสรรของนิคมสร้างตนเองบางปะกง ตำบลบางเกลือ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรามีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ทิศเหนือ ติดที่นายสว่าง ทิศใต้ติดที่นายพร้อม ทิศตะวันออกติดที่นายพิน ทิศตะวันตกติดคลอง ปรากฏตามวงเส้นสีแดงในแผนที่กลางเดิม นางม้วน หอมจันทร์ มารดาจำเลยทุกคนได้ครอบครองทำนาจนถึงแก่กรรมไปเมื่อประมาณ 4 ปีมานี้ จำเลยทุกคนซึ่งเป็นบุตรทำกินในที่พิพาทต่อมาจนปัจจุบัน คดีมีปัญหาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทุกคนได้ความจากโจทก์และนายแช่ม เย็นใจซึ่งเป็นบุตรว่า เดิมโจทก์กับนายหยวก หอมจันทร์ บิดาจำเลยทุกคนได้ร่วมกันซื้อที่พิพาทซึ่งยังเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์จากนายยวง สายทอง โดยออกเงินคนละ 2,500 บาทตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 และตกลงกันแยกการครอบครองคนละครึ่งเป็นส่วนสัดทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ตามลำดับ แล้วต่างสมัครเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองบางปะกงโดยนำที่พิพาทให้ทางนิคมจัดสรรตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งคณะกรรมการจัดสรรของนิคมได้มีมติให้โจทก์และนายหยวกมีสิทธิครอบครองในที่พิพาทคนละ 25 ไร่ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.5 และให้ไปรับมอบที่ดินพิพาทตามหนังสือเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ครอบครองโดยทำนา เสียภาษีบำรุงท้องที่เฉพาะส่วนของโจทก์ตลอดมาตามเอกสารหมาย จ.19 ถึง จ.29และทางราชการออก ส.ค. 1 เอกสารหมาย จ.7 ให้โจทก์เมื่อ พ.ศ. 2498ปีต่อมานายหยวกถึงแก่กรรม นางม้วนภริยา นายหยวกขอทำกินในที่พิพาทส่วนของโจทก์ประมาณ 4 ปี โจทก์อนุญาต อีก 3 ปี โจทก์ขอที่ดินคืน นางม้วนไม่ยอมคืนทั้งยังขอรับมรดกที่พิพาทต่อทางราชการทั้งแปลงอ้างว่าเป็นมรดกของนายหยวกสามี และก่อนฟ้อง 5 ปี นางม้วนได้ปลูกเรือนและต้นไม้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของโจทก์ โจทก์ร้องเรียนต่อทางนิคม ทางนิคมเสนอเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและกรมประชาสงเคราะห์ตามเอกสารหมาย จ.14, จ.15 ตามลำดับ แต่ยังไม่มีการฟ้องร้องขับไล่นางม้วนกับจำเลยจนกระทั่งกระทรวงมหาดไทยถอนสภาพนิคมสร้างตนเองบางปะกง ตามเอกสารหมาย จ.17 และเดือนมีนาคม 2524 นางม้วนถึงแก่กรรม จำเลยทุกคนซึ่งเป็นบุตรไม่ยอมออกจากที่พิพาท โจทก์มีนายชมพู ศรีพระจันทร์ ซึ่งเคยเป็นผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองบางปะกงและเคยดำรงตำแหน่งประชาสงเคราะห์จังหวัดฉะเชิงเทราตั้งแต่เดือนเมษายน 2520 ถึงเดือนตุลาคม 2524เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า นิคมสร้างตนเองบางปะกงได้สอบสวนพยานหลักฐานแล้วยืนยันว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาท 25 ไร่ เห็นว่าแม้ทางนิคมสร้างตนเองบางปะกงและกรมประชาสงเคราะห์จะมีความเห็นว่าโจทก์มีส่วนในที่พิพาทครึ่งหนึ่งและมีมติให้ดำเนินการฟ้องขับไล่นางม้วนกับบริวารออกจากที่พิพาทก็ตาม โจทก์เป็นเพียงผู้มีสิทธิในที่พิพาทตามที่นิคมสร้างตนเองบางปะกงจัดสรรให้เท่านั้น แต่ที่พิพาทยังเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ ที่โจทก์ฎีกาว่า มีหลักฐานหนังสือแสดงการทำประโยชน์ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 (น.ค.3) รับรองว่าโจทก์เป็นเจ้าของได้สิทธิทำกินในที่พิพาทตลอดไปนั้น เห็นว่า น.ค.3มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์คงมีสิทธิตามหนังสือดังกล่าวที่จะไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดินได้เท่านั้น ที่โจทก์จะขอสืบพยานเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักฐาน น.ค.3 ดังกล่าว ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแต่อย่างใด จึงไม่อนุญาต ส่วนที่โจทก์อ้างว่าหลังจากนายหยวกสามีนางม้วนถึงแก่กรรมนางม้วนได้มาขอโจทก์ทำกินในที่พิพาทส่วนของโจทก์ 4 ปี โจทก์อนุญาตแต่ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ ในข้อนี้จำเลยทุกคนก็นำสืบปฏิเสธว่านางม้วนมารดาจำเลยได้ครอบครองทำกินในที่พิพาทมาตลอด โดยโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าหากนางม้วนมาขอทำกินในที่พิพาทส่วนของโจทก์นานถึง 5 ปี โจทก์ก็น่าจะให้นางม้วนทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ นอกจากนี้ได้ความจากนายแช่มบุตรโจทก์ว่า โจทก์ไม่ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาท แต่กลับปรากฏจากบันทึกท้ายแผนที่พิพาทว่า มีบ้านจำเลยปลูกอยู่ในที่พิพาท 1 หลังมีต้นมะพร้าวประมาณ 180 ต้น ต้นกล้วยประมาณ 50 กอ ซึ่งพวกจำเลยปลูกอยู่ในที่พิพาทและที่ของจำเลยดังกล่าวซึ่งเป็นลักษณะการปลูกบ้านและทำไร่อย่างถาวร ทั้งได้ความจากโจทก์ว่า โจทก์ไม่ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่มา 10 กว่าปี เพราะกำนันกลับไปรับภาษีจากจำเลยที่ 1 แทน ประกอบกับพฤติการณ์ที่นางม้วนได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่พิพาทตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2502 ตลอดมา น่าเชื่อว่านางม้วนกับจำเลยได้ครอบครองทำกินในที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2499 ตลอดมา แม้ต่อมาภายหลังกระทรวงมหาดไทยจะเพิกถอนสภาพที่ดินจัดสรรของนิคมสร้างตนเองบางปะกงก็ตาม แต่จำเลยซึ่งได้ครอบครองที่พิพาทเพื่อตนตามความเป็นจริงย่อมมีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน