คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2466

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายที่ดิน วิกลจริต,ผิดสัญญา ค่าเสียหาย กู้ณี่บทที่ 49 เบ็ดเสร็จบทที่ 100

ย่อยาว

ซ.จำเลยเปนคนเสียสติได้ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่ ส.เปนเงิน ๑๒๐๐๐๐ บาท รับเงินมัดจำไปจาก ส. ๒๐๐๐๐ บาท แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ยอมขายที่ให้โจทย์ ๆ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ทำตามสัญญา หรือให้จำเลยคืนเงินมัดจำแลปรับจำเลยเปนจำนวนเท่าเงินมัดจำแลดอกเบี้ยด้วย
จำเลยต่อสู้ว่าหนังสือสัญญานั้นใช้ไม่ได้ เพราะจำเลยเปนคนเสียสติแลโจทย์รู้แล้ว
ฎีกาตัดสินว่า จำเลยมีสติวิปลาศ ตามหลักกฎหมายแล้วผู้ที่ทำสัญญากับผู้เสียจริตโดยรู้ว่าคู่สัญญาของตนเปนผู้ไม่สามารถสัญญานั้นใช้ไม่ได้ แต่เปนน่าที่ของฝ่ายผู้เสียจริตจะต้องพิสูจน์ให้ได้ความแน่ว่าผู้อีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้รู้ว่าตนเสียจริต การที่จะนำสืบว่าตนมีสติวิปลาศมาหลายปีจนเปนที่ประจักษ์แก่ผู้รู้จักกัน โจทย์จำเลยเคยรู้จักกันแลเคยอยู่ใกล้กันครั้ง ๑ ควรสันนิษฐานว่าโจทย์รู้นั้น เพียงเท่านี้ไม่พอ จำเลยจะต้องสืบว่าโจทย์เองได้รู้เช่นนั้นจริง ๆ
คำร้องที่คู่ความยื่นเมื่อพิจารณาเสร็จสำนวนแล้ว ขอให้ศาลเรียกพยานมาสืบใหม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พ้นเวลาเสียแล้ว” ไม่มีเหตุพอที่จะให้พิจารณาใหม่ได้ ในคดีแพ่งถ้าจะยอมให้พิจารณาเพิ่มเติมใหม่ การพิจารณาอาจจะไม่รู้จักเสร็จ
คำว่า “สิ่งของ” หมายความถึงทรัพย์เคลื่อนที่ได้เท่านั้น วิธีแบ่งทรัพย์เปนประเภทเคลื่อนได้แลไม่ได้ แลคำว่าสิ่งของก็เข้าใจกันว่าเปนทรัพย์เคลื่อนที่ได้นั้น เป็นวิธีแลความเข้าใจในทางกฎหมายมา ๒๐ ปีกว่าแล้ว ศาลฎีกาได้พิจารณาเรื่องที่ดินเนือง ๆ ไม่ได้ยกเอากฎหมายลักษณกู้ณี่บทที่ ๔๙ มาใช้เลยเมื่อแปลคำสิ่งของว่าเปนทรัพย์เคลื่อนที่ได้แล้ว ก็จะยกเอากฎหมายบทนี้มาบังคับคดีเรื่องที่ดินไม่ได้
คำว่าอวิญญาณกทรัพย์ในกฎหมายลักษณเบ็ดเสร็จบทที่ ๑๐๐ กินความถึงที่ดินด้วย แต่ท่านหมายถึงการซื้อขายที่เสร็จให้เงินกันแล้วยังแต่จะส่งทรัพย์ไม่ใช่สัญญาจะขายแล้ววางมัดจำ การที่จะให้ไหมจำเลยทวีคูณนั้นเพราะผู้ขายรับเงินแล้วปฏิเสธด้วยตั้งใจกระบัดสินท่าน แต่เรื่องนี้จำเลยเปนคนวิกลจริต จะถือว่าคำปฏิเสธของจำเลยเปนการตั้งใจกระบัดสินท่านหาควรไม่
กฎหมาย ๒ บท (คือ กฎหมายกู้ณี่บท ๔๙ กับเบ็ดเสร็จบท ๑๐๐ ) ดังกล่าวแล้วไม่ตรงกับรูปคดีนี้ เมื่อไม่มีบทตรงแล้ว จึงควรกำหนดค่าเสียหายโดยใช้หลักกฎหมายในเรื่องผิดสัญญาเทียบกับฎีกาแบบอย่างที่มีมาแล้ว คือ ค่าเสียหายที่โจทย์จะพึงสืบได้ว่า เกิดแต่การที่จำเลยผิดสัญญา คดีนี้โจทย์ไม่ได้แสดงว่าเสียหายอย่างไร จึงพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ ๒๐๐๐๐ บาทให้โจทย์ แลดอกเบี้ยชั่งละ ๑ บาท ต่อเดือนนับตั้งแต่วันเซ็นสัญญากันจนกว่าจำเลยจะใช้เงินเสร็จ

Share