แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจัดให้มีการเดินรถยนต์โดยสารที่เรียกว่ารถทัวร์โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่ง วิ่งรับส่งผู้โดยสารโดยเก็บค่าโดยสารจากต้นทางถึงปลายทางเป็นรายบุคคล มีกำหนดเวลาออกรถแน่นอนทุกวันเป็นประจำ ผู้โดยสารที่มากับรถยนต์จำเลยต่างมาธุรกิจส่วนตัว มิใช่มาท่องเที่ยว และมิได้มีการนำเที่ยวแต่อย่างใด พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยดำเนินกิจการรับขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างธรรมดา หาใช่เป็นการจัดให้มีการทัศนาจรโดยจ้างเหมาเป็นเที่ยวๆ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างอันเป็นกิจการที่จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 มาตรา 10 เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ต้องมีความผิดตามมาตรา 59 ไม่ว่ารถยนต์ที่จำเลยนำมาใช้เพื่อกิจการของจำเลยดังกล่าวจะเป็นของจำเลยหรือของผู้อื่น
บทบัญญัติมาตรา 10 ว่าด้วยการประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาตกับมาตรา 14 ว่าด้วยผู้ได้รับอนุญาตขนส่งสาธารณะทำการขนส่งแข่งขันในเส้นทางของผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางในเส้นทางนั้น เป็นกรรมความผิดแยกต่างหากจากกันเมื่อจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องและมิได้หลงข้อต่อสู้ แม้โจทก์จะฟ้องรวมกันมา ก็ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งพ.ศ.2497มาตรา 10,14,59,60 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะข้อประกอบการขนส่งโดยมิได้รับอนุญาต และระบุเจาะจงขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามมาตรา 10,59 แสดงว่าโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์โต้แย้งในข้อหาความผิดตามมาตรา 14,60 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 14,60 ไม่ได้ เป็นการเกินคำขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจัดรถโดยสารขนาดใหญ่ 6 คัน อันเป็นเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามกฎหมาย ทำการวิ่งรับส่งผู้โดยสารและเก็บค่าโดยสารในเส้นทางที่บริษัทขนส่ง จำกัด ได้รับอนุญาต จึงเป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับบริษัทขนส่ง จำกัด เพื่อรับสินจ้างและเพื่อกิจการค้าของตน โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 10, 14, 59, 60
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นบริษัทนำเที่ยวไม่มีรถยนต์เป็นของตนเองไม่ต้องขออนุญาตประกอบการขนส่งจากรมการขนส่งทางบก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์แสดงว่าจำเลยประกอบกิจการขนส่งเพื่อสินจ้างและเพื่อการค้าของตนเอง จะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 10, 59 ตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 10, 14, 59, 60 ปรับคนละกระทงละ 2,000 บาท รวมปรับคนละ 4,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการได้จัดให้มีการเดินรถยนต์โดยสารที่เรียกว่ารถทัวร์ วิ่งรับผู้โดยสารโดยเก็บค่าโดยสารจากต้นทางถึงปลายทางเป็นรายบุคคล จำเลยมิได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งจากนายทะเบียน รถยนต์จำเลยมีกำหนดเวลาออกแน่นอนทุกวันเป็นประจำ ผู้โดยสารที่มากับรถยนต์จำเลยต่างมาธุรกิจส่วนตัว มิใช่มาท่องเที่ยวและมิได้มีการนำเที่ยวแต่อย่างใด พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยดำเนินกิจการรับขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้างตามธรรมดา หาใช่เป็นการจัดให้มีการทัศนาจรโดยจ้างเหมาเป็นเที่ยว ๆ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างอันเป็นกิจการที่จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 10 เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตต้องมีความผิดตามมาตรา 59 ไม่ว่ารถยนต์ที่จำเลยนำมาใช้เพื่อกิจการดังกล่าวจะเป็นของจำเลยหรือของผู้อื่น
บทบัญญัติมาตรา 10 ว่าด้วยการประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาตกับมาตรา 14 ว่าด้วยผู้ได้รับอนุญาตขนส่งสาธารณะ ทำการขนส่งแข่งขันในเส้นทางของผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางในเส้นทางนั้น เป็นกรรมความผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องและมิได้หลงข้อต่อสู้ แม้โจทก์จะฟ้องรวมกันมา ก็ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497มาตรา 10, 14, 59, 60 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะข้อประกอบการขนส่งโดยมิได้รับอนุญาต และระบุเจาะจงขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามมาตรา 10, 59 แสดงว่าโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์โต้แย้งในข้อหาความผิดตามมาตรา 14, 60 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 14,60 ไม่ได้ เป็นการเกินคำขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งพ.ศ. 2497 มาตรา 10, 59 ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท