แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การโอนทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 นั้นเป็นหน้าที่ของผู้รับโอนจะต้องนำสืบแสดงให้เป็นที่พอใจศาลว่าการโอนนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบริษัทประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ด้วยกัน จำเลยที่ 1 ติดต่อกู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา จนถึงเดือนธันวาคม 2526จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้คัดค้าน 5,000,000 บาทโดยไม่มีหลักประกันแสดงว่าผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 1 ติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตลอดเป็นเวลาหลายปี จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยขอหยุดทำการจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยอ้างว่าเริ่มประสบวิกฤติการณ์ทางภาวะการเงินมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2526 ซึ่งผู้คัดค้านน่าจะทราบดีถึงภาวะการเงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่ผู้คัดค้าน2 ฉบับ ๆ แรกจำนวน 969,408 บาท ผู้คัดค้านได้รับเงินแล้ว ฉบับที่2 จำนวน 4,453,812 บาท ตั๋วถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 22 ธันวาคม2527 แต่จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2526 เพื่อชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวก่อนตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดชำระถึง 1 ปี พฤติการณ์ดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้รับโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และเป็นการโอนซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนล้มละลาย ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนการโอนนั้นได้ ผู้คัดค้านต้องคืนเงินที่ได้รับจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยให้ผู้คัดค้านหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นซึ่งผู้คัดค้านได้จ่ายไปเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนมาได้ ผู้คัดค้านออกเงินค่าใช้จ่ายก็เพื่อบังคับตามสัญญาเช่าซื้อตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนมา มิใช่เป็นการจัดการงานนอกสั่งสัญญาเช่าซื้อระบุแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ยอมออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบังคับตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมิได้กำหนดว่าจำเลยที่ 1ยอมชดใช้ดอกเบี้ยในส่วนค่าใช้จ่ายที่ผู้คัดค้านจ่ายไป ผู้คัดค้านจึงไม่อาจหักดอกเบี้ยในส่วนนี้จากจำนวนเงินที่ต้องชดใช้แก่ผู้ร้อง ส่วนดอกเบี้ยของเงินจำนวนที่ผู้คัดค้านต้องชดใช้ให้แก่ผู้ร้องนั้น ในวันยื่นคำร้องยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านผิดนัดผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2528 ทางสอบสวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จำนวน 81 ราย ซึ่งค่าเช่าซื้อยังไม่ถึงกำหนดชำระจำนวน 5,757,989 บาท ให้ผู้คัดค้านเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เลขที่ กท.1354-100-26 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ออกให้แก่ผู้คัดค้าน โดยยินยอมให้มีสิทธิรับชำระค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อเป็นการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วยซึ่งในขณะรับโอน ผู้คัดค้านทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้แก่บรรดาเจ้าหนี้อื่น ๆ ได้ ทั้งในการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ให้ผู้คัดค้านไม่เคยมีการให้หลักประกันมาก่อน พฤติการณ์ของผู้คัดค้านเป็นการรับโอนสิทธิเรียกร้องโดยไม่สุจริตในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ขอให้ศาลเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ 22ธันวาคม 2526 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาเป็นเงิน5,757,989 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ในขณะรับโอนสิทธิเรียกร้องตามคำร้องนั้นผู้คัดค้านไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 1 มีสภาพการเงินไม่คล่องตัวเนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ และการรับโอนสิทธิเรียกร้องก็เป็นเสมือนการผ่อนชำระหนี้เป็นงวดอันเป็นปกติของผู้ดำเนินธุรกิจการค้า ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรายพิพาทเพียง79 ราย เป็นเงิน 4,446,109.35 บาท และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามผู้เช่าซื้อและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมเป็นเงิน977,638.50 บาท ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เดือนมีนาคม 2527 ถึงวันที่ผู้คัดค้านต้องชำระเงินให้ผู้ร้อง ผู้คัดค้านรับโอนสิทธิเรียกร้องโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของผู้คัดค้านรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้รับโอนสิทธิเรียกร้องรายพิพาทมาโดยสุจริต ผู้คัดค้านได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องที่ได้รับโอนมาเป็นเงิน 4,446,109.75 บาท โดยผู้คัดค้านได้เสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 137,995 บาท จึงมีสิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าวออกก่อนพิพากษาให้เพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาลงวันที่ 22ธันวาคม 2526 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ให้ผู้คัดค้านส่งเงินที่ได้จากการรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจำนวน 4,308,114.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง สำหรับค่าทนายความเนื่องจากผู้ร้องเข้าว่าความเองจึงไม่กำหนดให้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องแก้อุทธรณ์เองจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การโอนทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114 นั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับโอนจะต้องนำสืบแสดงให้เป็นที่พอใจศาลว่าการโอนนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ปัญหาจึงมีว่าการโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่ผู้คัดค้านได้รับโอนจากจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ร.1 ได้กระทำโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่าทั้งผู้คัดค้านและจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบริษัทประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ด้วยกัน ตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2527 แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยขอหยุดทำการจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินอ้างว่าจำเลยที่ 1 เริ่มประสบวิกฤติการณ์ทางภาวะการเงินมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2526 จำเลยที่ 1 ต้องนำเงินที่ได้มาจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เข้าเสริมสภาพคล่องทางด้านการเงิน แต่ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินได้นำตั๋วมาขอรับชำระเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้จำเลยที่ 1 ขาดเงินที่จะนำมาหมุนเวียนจ่ายคืนให้แก่บรรดาผู้ถือตั๋วต่อไป จึงขอหยุดทำการจ่ายเงินตามกฎหมายนับแต่วันที่แจ้งมา จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ครั้งแรกกู้ไป 5,000,000 บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระหนี้จนถึงเดือนธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้คัดค้านเป็นเงิน 5,000,000บาท โดยไม่มีหลักประกันแสดงว่าผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 1 มีการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตลอดเป็นเวลาหลายปี ผู้คัดค้านจึงน่าจะทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เริ่มประสบภาวะวิกฤติการณ์ทางการเงินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2526 แล้ว สำหรับหนี้จำนวน 5,000,000 บาทยังได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่ผู้คัดค้าน2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นเงิน 969,408 บาท ผู้คัดค้านได้รับเงินตามตั๋วแล้ว แสดงว่าผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังมีปัญหาทางการเงิน ส่วนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่สองจำนวน 4,453,812 บาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีนี้วันออกตั๋วไม่ปรากฏ แต่ตั๋วถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 22 ธันวาคม 2527อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยที่ 1 หยุดการจ่ายเงินแก่ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 แก่ผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ร.1 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2526 เพื่อเป็นหลักประกันและชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่ผู้คัดค้านก่อนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระถึง 1 ปี ในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังประสบภาวะวิกฤติการณ์ทางการเงินอยู่จนถูกกระทรวงการคลังเข้าควบคุมกิจการและเพิกถอนใบอนุญาตในที่สุด โดยผู้คัดค้านน่าจะทราบดีถึงปัญหาของจำเลยที่1 พฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้รับโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ร.1 โดยสุจริตและเป็นการโอนซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนล้มละลาย ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนการโอนนั้นได้ตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้คัดค้านจึงต้องคืนเงินที่ได้รับจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องจำนวน 4,446,109.75 บาท เข้าในกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ปัญหาต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายจากเงินที่ต้องคืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำนวนเท่าใด ผู้คัดค้านนำสืบว่าได้จ้างพนักงานเพิ่มเติมเพื่อดำเนินกิจการด้านการเช่าซื้อรถยนต์ สิ้นค่าจ้างไปเป็นเงิน 830,000 บาท เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นบริษัทประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ย่อมต้องมีพนักงานไว้บริการแก่ลูกค้าในด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว การที่ผู้คัดค้านรับโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ก็ต้องจัดเตรียมพนักงานไว้ให้พร้อมประกอบกับได้ความว่าผู้คัดค้านมีความประสงค์จะตั้งแผนกเช่าซื้อรถยนต์ขึ้นเพื่อฝึกหัดพนักงาน การจ้างพนักงานเพิ่มเติมจึงเป็นประโยชน์แก่ผู้คัดค้านโดยเฉพาะ หากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็มิใช่ค่าใช้จ่ายโดยตรงจากการบังคับตามสัญญาเช่าซื้อที่รับโอนมา ผู้คัดค้านจึงไม่อาจนำค่าจ้างพนักงานมาหักออกจากเงินที่ต้องคืนตามสิทธิเรียกร้องที่ถูกเพิกถอน ส่วนค่าติดตามค่าพนักงานยึดรถ ค่าโอนทะเบียน จำนวน 137,995 บาท ผู้คัดค้านมีบัญชีรายละเอียดมาแสดงจึงรับฟังได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นซึ่งผู้คัดค้านได้จ่ายไปเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนมา ผู้คัดค้านจึงมีสิทธินำเงินส่วนนี้ไปหักออกจากเงินที่จะต้องคืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ส่วนดอกเบี้ยที่ผู้คัดค้านขอคิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าใช้จ่ายนั้น เห็นว่าผู้คัดค้านออกเงินค่าใช้จ่ายก็เพื่อบังคับตามสัญญาเช่าซื้อตามสิทธิเรียกร้องที่ผู้คัดค้านรับโอนมา หาใช่เป็นการจัดการงานนอกสั่งตามที่ผู้ร้องฎีกาไม่ เมื่อสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระบุแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ยอมออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบังคับตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมิได้กำหนดว่าจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ดอกเบี้ยในส่วนค่าใช้จ่ายที่ผู้คัดค้านจ่ายไป ผู้คัดค้านจึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจหักดอกเบี้ยในส่วนนี้จากจำนวนเงินที่ต้องชดใช้แก่ผู้ร้อง ส่วนดอกเบี้ยของเงินที่ผู้คัดค้านต้องชดใช้แก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่าในวันยื่นคำร้องยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านผิดนัด ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้ผู้คัดค้านชำระนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์