แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่ผู้ประกันผิดสัญญาประกันต่อศาล เพราะไม่ส่งตัวจำเลยมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ผู้ประกันจะอ้างว่าจำเลยเป็นโรคประสาทอย่างแรงจนไม่สามารถรู้สึกผิดชอบ ขอให้งดการพิจารณาคดีและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ดังนี้ หาชอบ ไม่ เพราะมาตราดังกล่าวนี้เป็นบทบัญญัติใช้สำหรับกรณีที่ได้ตัวจำเลยมาศาลแล้วและศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาคดีเกี่ยวแก่ตัวจำเลยโดยตรง แต่กรณีที่ผู้ประกันผิดสัญญาประกันต่อศาลนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวผู้ร้องที่ไม่นำจำเลยมาส่งศาลตามนัด
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย และริบไม้ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว โดยมีนางจงดีศุกระกาญจน์ ผู้ร้องเป็นผู้ขอประกันตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันตัวจำเลยไปจากศาลโดยตีราคาหนึ่งแสนบาท
ต่อมาศาลชั้นต้นหมายนัดให้โจทก์จำเลยและให้ผู้ร้องส่งตัวจำเลยมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ครั้นถึงวันนัด จำเลยไม่มาศาล และผู้ร้องไม่สามารถส่งตัวจำเลยมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าผู้ร้องผิดสัญญาประกันให้ปรับผู้ร้องหนึ่งแสนบาทตามสัญญาประกัน
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาว่า จำเลยเป็นโรคจิตอย่างแรง ออกจากบ้านไปหาตัวไม่พบ ขอให้ศาลไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้อง และสั่งงดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 และยังไม่สมควรสั่งปรับผู้ร้อง ค่าปรับก็สูงเกินไป
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 14 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นบทบัญญัติใช้สำหรับกรณีที่ได้ตัวจำเลยมาศาลแล้ว และศาลจะดำเนินการพิจารณาคดีเกี่ยวแก่ตัวจำเลยโดยตรง แต่ในกรณีที่ผู้ร้อง(ผู้ประกัน) ผิดสัญญาประกัน ไม่นำจำเลยมาส่งศาลตามหมายนัดของศาลเป็นเรื่องเฉพาะตัวผู้ร้อง ฉะนั้น จึงหาจำเป็นที่ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคประสาทของจำเลย และสั่งงดการพิจารณาคดีไม่
พิพากษายืน