แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารที่เป็นหลักฐานการชำระหนี้กู้ยืมเงินกว่า 50 บาทขึ้นไป แม้มีลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ให้ยืม แต่ไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสาม เท่ากับผู้ให้ยืมมิได้ลงลายมือชื่อในหลักฐานการใช้เงินนั้น ผู้ยืมจึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ว่าผู้ให้ยืมได้รับชำระหนี้แล้ว
ฎีกาข้อกฎหมายที่ไร้สาระศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางไล้มารดาจำเลยได้มอบอำนาจให้จำเลยจำนองที่ดินแก่โจทก์ เพื่อเป็นการประกันการกู้ยืมเงินที่ผู้จำนองกู้ยืมไปจากโจทก์ 130,000 บาท ฝ่ายจำเลยได้ชำระดอกเบี้ย 15,000 บาทแก่โจทก์ แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้อีก นางไล้ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนางไล้ต้องรับผิดในหนี้จำนวนนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 182,112.50 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 130,000 บาท คิดถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยและบุตรได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หลายครั้ง ซึ่งโจทก์ได้ออกใบรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน คงเหลือต้นเงินเพียง 13,000 บาท เท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทของนางไล้ชำระเงินจำนวนตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาจำเลยประการแรกสรุปใจความสำคัญว่า เอกสารหมาย ล.1 เป็นหลักฐานการรับเงินที่โจทก์ได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ แสดงว่า จำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์ไปแล้วบางส่วน ยังคงเหลือต้นเงินเพียง 13,000 บาทเท่านั้น แม้ลายนิ้วมือโจทก์ดังกล่าวจะไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน ก็ยังรับฟังเป็นพยานหลักฐานการใช้เงินได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารหมาย ล.1 จะเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ แต่ไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสาม เท่ากับโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหลักฐานการใช้เงินนั้น เอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยอ้างจึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ จากจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยตามที่ปรากฏในเอกสารนั้น เว้นแต่เงินจำนวน 15,000 บาท ที่เป็นดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ยอมรับว่าได้ชำระแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลย ล้วนเป็นข้อกฎหมายที่ไร้สาระ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน