แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การประทับตราวันที่แต่เพียงอย่างเดียวลงบนอากรแสตมป์ที่ปิดในหนังสือมอบอำนาจ.เป็นการกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 103 แล้ว หนังสือมอบอำนาจจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
สัญญารับมอบสินค้าเชื่อหรือทรัสต์รีซีทคือสัญญาระหว่างธนาคารผู้เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิต และลูกค้าผู้ขอให้เปิดเครดิตโดยธนาคารสัญญาจะมอบเอกสารที่จะใช้ในการรับมอบสินค้าให้ผู้ขอเครดิตเพื่อไปรับสินค้าและนำสินค้านั้นไปขายได้แต่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของธนาคารอยู่ และทางฝ่ายผู้ขอเปิดเครดิตก็สัญญาว่าจะยึดถือเอกสารที่จะใช้ในการรับมอบสินค้ากับสินค้าที่รับมารวมทั้งเงินที่ขายสินค้านั้นได้ไว้ในนามของธนาคาร และจะนำเงินชำระให้แก่ธนาคารเมื่อหักกับเงินที่เป็นหนี้ตามดราฟท์ สัญญาเช่นนี้มีผลผูกพันคู่กรณีตามกฎหมาย กรณีนี้หาใช่สัญญาก่อตั้งทรัสต์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 ไม่
คำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานผู้ทำหน้าที่เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทำทรัสต์รีซีทของธนาคารโจทก์ที่ยืนยันว่าลูกหนี้ผิดนัดมีประเพณีของธนาคารให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อไป ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบในข้อนี้อย่างใด เช่นนี้ เป็นหลักฐานให้รับฟังได้แล้วว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนั้นได้ไม่จำต้องมีพยานเอกสารประกอบอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำความตกลงกับธนาคารโจทก์ ขอให้เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทต่างประเทศ ธนาคารโจทก์ได้เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตให้ไปตามความประสงค์ และตัวแทนในต่างประเทศของธนาคารโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัทต่างประเทศผู้ส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อสินค้านั้น ๆ มาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะชำระราคาสินค้านั้นให้กับธนาคารโจทก์ เพื่อรับเอกสารกำกับสินค้าจากธนาคารโจทก์ไปเพื่อทำการออกสินค้าจากท่าเรือได้ จำเลยที่ 1 จึงได้ทำความตกลงกับธนาคารโจทก์ยอมเป็นลูกหนี้ธนาคารโจทก์โดยทำใบรับมอบสินค้าเชื่อ (ทรัสต์รีซีท) จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วทุกฉบับ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันของธนาคาร หากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์ และเมื่อคิดหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่ามัดจำออกแล้วรวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ตามใบมอบสินค้าเชื่อ9 ฉบับ คิดเพียงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2513 เป็นเงิน 986,224.95 บาท จำเลยที่ 3 ได้ยอมผูกพันเข้าเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ดังกล่าว เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ธนาคารโจทก์ได้ทวงถาม จำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระ แต่ธนาคารโจทก์ไม่ตกลงด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 เพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 986,224.95 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 914,748.79 บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยไม่เคยให้ธนาคารโจทก์ซื้อสินค้าให้ และเป็นหนี้สินต่อธนาคารโจทก์ ความจริงโจทก์เป็นเจ้าของสินค้ารายพิพาท จำเลยเป็นเพียงตัวแทนรับจำหน่ายสินค้าแทน และเมื่อขายสินค้าได้แล้วก็ส่งเงินบางส่วนแก่โจทก์ เงินที่ยังส่งให้ไม่ได้เพราะจำเลยยังขายสินค้าดังกล่าวไม่ได้จึงยังไม่ต้องรับผิด โจทก์เรียกดอกเบี้ยซ้อน ต้องห้ามตามกฎหมาย และจำเลยก็มีฐานะเป็นตัวแทนโจทก์เท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย และตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ค้ำประกันการชำระเงินตามดราฟท์ต่อโจทก์ ซึ่งจะต้องลงชื่อค้ำประกันในดราฟท์อันเป็นตั๋วแลกเงินชนิดหนึ่งจะลงชื่อค้ำประกันในเอกสารอื่นต่างหากไม่ได้ สัญญารับมอบสินค้าเชื่อหรือทรัสต์รีซีทตามฟ้องเป็นนิติกรรมที่ก่อตั้งทรัสต์ขึ้นโดยตรง จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โจทก์ได้ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลายครั้งเป็นเวลาเกือบสองปี จำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 986,224.95 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 914,748.75 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เท่านั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อมา
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจหมาย จ.2 ปิดอากรแสตมป์ราคา 10 บาท และมีตัวอักษรและตัวเลข 2 ม.ค. 2513 ประทับบนอากรแสตมป์แต่ไม่มีลายมือชื่อหรือลงชื่อธนาคารโจทก์ ทั้งไม่มีการขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ด้วย ถือไม่ได้ว่าเป็นการขีดฆ่าแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การประทับตราวันที่แต่เพียงอย่างเดียวลงบนอากรแสตมป์ที่ปิดในหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.2 นับว่าเป็นการกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก ถือได้ว่า เป็นการขีดฆ่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 103แล้ว ฉะนั้นหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.2 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า สัญญารับมอบสินค้าเชื่อหรือทรัสต์รีซีทเป็นนิติกรรมก่อตั้งทรัสต์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 จึงไม่มีผลตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญารับมอบสินค้าเชื่อหรือทรัสต์รีซีทคือสัญญาระหว่างธนาคารผู้เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิต และลูกค้าผู้ขอให้เปิดเครดิตโดยธนาคารสัญญาจะมอบเอกสารที่จะใช้ในการรับมอบสินค้าให้ผู้ขอเครดิตเพื่อไปรับสินค้าและนำสินค้านั้นไปขายได้ แต่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของธนาคารอยู่ และทางฝ่ายผู้ขอเปิดเครดิตก็สัญญาว่าจะยึดถือเอกสารที่จะใช้ในการรับมอบสินค้ากับสินค้าที่รับมา รวมทั้งเงินที่ขายสินค้านั้นได้ไว้ในนามของธนาคาร และจะนำเงินชำระให้แก่ธนาคารเพื่อหักกับเงินที่เป็นหนี้ตามดราฟท์สัญญาเช่นนี้มีผลผูกพันคู่กรณีตามกฎหมาย กรณีนี้หาใช่สัญญาก่อตั้งทรัสต์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 ดังข้อฎีกาไม่ ฯลฯ
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ส่งพยานเอกสารสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของนางสุนี ปองทอง พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานผู้ทำหน้าที่เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตและทำทรัสต์รีซีทของธนาคารโจทก์ที่ยืนยันว่าเมื่อลูกหนี้ผิดนัด มีประเพณีของธนาคารให้คิดดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบในข้อนี้อย่างใด เช่นนี้ เป็นหลักฐานให้รับฟังได้แล้วว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนั้นได้ ไม่จำต้องมีพยานเอกสารประกอบอีก ฯลฯ
พิพากษายืน