คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิม จ. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ก่อนโจทก์บวชเป็นพระภิกษุและยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน ต่อมา จ. ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีก หลังจากนั้น จ. ได้ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ชน โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับ จ. เป็นโมฆะ ดังนี้ เมื่อ จ. ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก่อนโจทก์ฟ้อง การสมรสระหว่างจำเลยกับ จ. ได้ขาดจากกันเพราะเหตุ จ. ถึงแก่ความตายตามมาตรา 1497 แล้ว เมื่อการสมรสซ้อนของจำเลยกับ จ.ขาดจากกันแล้วขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ การสมรสซ้อนนั้นจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะคู่สมรสเดิมแต่อย่างใด และตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวแสดงว่าจำเลยได้กระทำการสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เช่นสิทธิในครอบครัวสิทธิในมรดกของผู้ตายหรือสิทธิอื่นใด ซึ่งจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จึงถือว่าตามคำฟ้องไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 20/2521

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางจันทร์จรัส กวีสุทธิ อ่อนเจริญ ฤทธาภัย หรืออึ่งไพร เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2513 และอยู่กินฉันสามีภริยากัน ต่อมาโจทก์ได้บวชเป็นพระ ยังมิได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันจนบัดนี้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2519 นางจันทร์จรัสถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถชน โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยกับนางจันทร์จรัสได้จดทะเบียนสมรสกันในวันที่ 13 มกราคม 2519 การจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับนางจันทร์จรัสเป็นการจดซ้ำซ้อน ผิดเงื่อนไข มาตรา 1445(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือว่าเป็นโมฆะ ขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับนางจันทร์จรัสเป็นโมฆะ และให้เพิกถอนการสมรสระหว่างบุคคลทั้งสอง

จำเลยให้การว่า จำเลยและนางจันทร์จรัสอยู่ร่วมบ้านเดียวกันฉันสามีภริยา ณ ที่บ้านนางจันทร์จรัสประมาณปีเศษ นางจันทร์จรัสเร่งเร้าให้จำเลยจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยจึงยอมจดทะเบียนสมรสกับนางจันทร์จรัสเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2519 ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2519นางจันทร์จรัสได้ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ชน ส่วนโจทก์บวชเป็นพระภิกษุมาก่อนนางจันทร์จรัสถึงแก่กรรมไม่น้อยกว่า 4 ปีแล้ว และแจ้งให้นางจันทร์จรัสมีสามีใหม่ได้ จะไม่สึกจากพระ เมื่อโจทก์ทราบว่านางจันทร์จรัสถึงแก่กรรมแล้วมีจุดประสงค์ต้องการเป็นผู้รับมรดกนางจันทร์จรัสในฐานะทายาทโดยธรรม จึงไม่มีความเหมาะสมและขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมนางจันทร์จรัสผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2513 และยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน ต่อมาวันที่ 13มกราคม 2519 นางจันทร์จรัสผู้ตายได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกเมื่อวันที่ 2เมษายน 2519 นางจันทร์จรัสได้ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ชน คดีมีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างจำเลยกับนางจันทร์จรัสผู้ตายได้หรือไม่

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวในที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่าแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445(3) บัญญัติว่าการสมรสจะทำได้ ต่อเมื่อชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่ และมาตรา 1490บัญญัติว่า การสมรสผิดบทบัญญัติมาตรา 1445(2)(3) หรือ (5) ให้ถือว่าเป็นโมฆะ และมาตรา 1488 บัญญัติว่าบุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้ นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497 ก็ได้บัญญัติว่าความตายหรือการหย่าเท่านั้นเป็นเหตุให้ขาดจากการสมรส ฉะนั้น หากการสมรสซ้อนระหว่างจำเลยกับนางจันทร์จรัสผู้ตายยังมีอยู่ ย่อมเห็นได้ว่าการสมรสซ้อนเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเป็นคู่สมรสเดิม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการสมรสซ้อนนั้นได้ แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่านางจันทร์จรัสได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก่อนโจทก์ฟ้อง การสมรสระหว่างจำเลยกับนางจันทร์จรัสได้ขาดจากกัน เพราะเหตุนางจันทร์จรัสถึงแก่ความตายตามมาตรา 1497 แล้ว เมื่อการสมรสซ้อนของจำเลยกับนางจันทร์จรัสขาดจากกันแล้วขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ การสมรสซ้อนนั้นจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะคู่สมรสเดิมแต่อย่างใด และตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวแสดงว่า จำเลยได้กระทำการสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เช่นสิทธิในครอบครัว สิทธิในมรดกของผู้ตาย หรือสิทธิอื่นใด ซึ่งจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จึงถือว่าตามคำฟ้องไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share