แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ ธ. ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ พนักงานอัยการและผู้เสียหายจึงต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้แก่พนักงานอัยการโจทก์โดยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้แก่โจทก์ร่วมจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายธาดา ตรัง ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1) จำคุก 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,000 บาทอีกสถานหนึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ร่วมฎีกาข้อกฎหมายว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้โจทก์ร่วมแก้อุทธรณ์เป็นการชอบหรือไม่นั้น บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 บัญญัติว่า”ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์” คดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายธาดา ตรัง ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ ดังนั้น พนักงานอัยการและผู้เสียหายจึงต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของจำเลยว่า “รับอุทธรณ์ของจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ปิดหมาย” ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นนำส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะให้แก่พนักงานอัยการโจทก์โดยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้แก่โจทก์ร่วม ซึ่งต่างก็เป็นโจทก์และมีสิทธิแก้อุทธรณ์ด้วยเช่นกันนั้นจึงย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ฎีกาโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยให้โจทก์ร่วมแล้วส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี