คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา33ได้บัญญัติถึงการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าว่าจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนเสียก่อนก็ตามแต่เมื่อโจทก์ได้คิดและออกแบบเครื่องหมายการค้าแล้วนำไปจดทะเบียนโดยใช้ชื่อส.สามีโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนในระหว่างเป็นสามีภรรยากันเครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินที่ส.กับโจทก์ผู้เป็นคู่สมรสได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสส. และโจทก์ย่อมเป็นเจ้าของสิทธิร่วมกันในเครื่องหมายการค้าแม้โจทก์จะมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในทะเบียนเครื่องหมายการค้าและต่อมาได้มีการหย่าขาดและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันแต่สิทธิในเครื่องหมายการค้าของบุคคลทั้งสองก็ยังคงมีอยู่ร่วมกันจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าเป็นของโจทก์แต่ลำพังผู้เดียวตามข้อตกลงการที่จำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ตามมาตรา27 ตามปกติโจทก์ต้องทำการโฆษณาสินค้าของโจทก์อยู่แล้วจึงไม่อาจถือว่าค่าโฆษณาสินค้าเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำละเมิดของจำเลยโดยตรงแต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปการที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยย่อมทำให้ค่านิยมทางการค้าของโจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายศาลจึงกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนหนึ่งตามพฤติการณ์แห่งละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนตรา CLOY อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า คลอย ตราหัวช้าง และตราผู้หญิงกระโดดเชือก ซึ่งใช้กับสินค้าจำพวกเครื่องหนัง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ประกอบกิจการขายเครื่องหนังเช่นกันโดยร่วมกันนำรูปรอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะของโจทก์พิมพ์ลงที่ถุงกระดาษสำหรับบรรจุสินค้าจำพวกเครื่องหนังที่จำเลยทั้งสองขายให้แก่ลูกค้าโดยมีเจตนาให้ลูกค้าเข้าใจว่าร้านค้าและสินค้ามีคุณภาพต่ำของจำเลยทั้งสองเป็นร้านค้าและสินค้าเดียวกับของโจทก์ซึ่งจำหน่ายสินค้าจำพวกเครื่องหนังภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อหลอกลวงให้สาธารณชนหลงผิดในแหล่งกำเนิด สภาพและคุณภาพของสินค้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะดังกล่าวของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะตามฟ้องเพราะขณะโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองละเมิดต่อโจทก์นั้น เครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะเป็นของนายประสงค์วีระกุล นายประสงค์เพิ่งโอนกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะให้โจทก์เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2532 โจทก์จึงมิใช่ผู้ถูกทำละเมิด ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 พิมพ์รูปรอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะลงบนถุงกระดาษสำหรับบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2ไม่เคยใช้ถุงกระดาษมีลักษณะตามฟ้องและไม่เคยลอกเลียนหรือเอารูปรอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะไป จำเลยที่ 2จึงไม่ได้ละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีความเสียหาย หากมีก็ไม่เกิน5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือกระทำการใด ๆเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะตามฟ้องของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองประกอบกิจการขายสินค้าจำพวกเครื่องหนังนายประสงค์ วีระกุล กับโจทก์เป็นสามีภริยากัน โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2512 ในระหว่างเป็นสามีภริยากันโจทก์ได้คิดและออกแบบเครื่องหมายการค้า CLOY ตราหัวช้าง และตราหญิงกระโดดเชือก เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเครื่องหนังและให้นายประสงค์จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ต่อมานายประสงค์หย่าจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์โดยจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม2530 และได้ทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะนี้ให้เป็นของโจทก์ แต่นายประสงค์ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าทั้งสามให้ในระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2531 ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2532จำเลยทั้งสองได้นำเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะไปพิมพ์หรือแสดงให้ปรากฎบนถุงสำหรับบรรจุสินค้าจำพวกเครื่องหนัง และใช้บรรจุสินค้าจำพวกเครื่องหนังให้ลูกค้าต่อมาโจทก์ฟ้องบังคับให้นายประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินรวมทั้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะนี้ด้วย นายประสงค์จึงจดทะเบียนโอนให้โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2532 คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่าก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนรับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาททั้งสามลักษณะจากนายประสงค์นั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 33 ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้จะได้บัญญัติถึงการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าว่าจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนเสียก่อนก็ตาม แต่กรณีตามปัญหาในคดีนี้เมื่อปรากฎว่าโจทก์ได้คิดและออกแบบเครื่องหมายการค้า CLOY เครื่องหมายการค้าตราหัวช้าง และเครื่องหมายการค้าตราหญิงกระโดดเชือกแล้วนำไปจดทะเบียนโดยใช้ชื่อนายประสงค์สามีโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนในระหว่างเป็นสามีภริยากันเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าพิพาททั้งสามลักษณะเป็นทรัพย์สินที่นายประสงค์กับโจทก์ผู้เป็นคู่สมรสได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ทั้งนายประสงค์และโจทก์ย่อมเป็นเจ้าของสิทธิร่วมกันในเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะดังกล่าวแม้โจทก์จะมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสามในทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ตาม และแม้ต่อมาภายหลังจะได้มีการหย่าขาดและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกัน แต่สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของบุคคลทั้งสองก็ยังคงมีอยู่ร่วมกันจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นเป็นของโจทก์แต่ลำพังผู้เดียวตามข้อตกลง การที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าพิพาททั้งสามลักษณะไปแสดงให้ปรากฎที่ถุงกระดาษที่จำเลยใช้ใส่สินค้าที่ขายให้แก่ลูกค้าของตนในระหว่างที่โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทร่วมกับนายประสงค์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสามและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นส่วนในเรื่องค่าเสียหายนั้น แม้โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ทำการโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาททั้งทางหนังสือพิมพ์นิตยสาร ป้ายติดข้างรถโดยสารประจำทาง ปรากฎตามเอกสารและภาพถ่ายหมาย จ.13 และเสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาดังกล่าวประมาณ 1,000,000 บาทปรากฎตามใบประเมินค่าทำแผ่นป้ายและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายจ.14 และ จ.15 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามปกติโจทก์ก็ต้องทำการโฆษณาสินค้าของโจทก์อยู่แล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่าค่าโฆษณาดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำละเมิดของจำเลยโดยตรงอย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป การที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองโดยไม่สุจริตเพื่อหลอกลวงให้สาธารณชนหลงผิดในแหล่งกำเนิดสภาพและคุณภาพของสินค้า ย่อมเป็นการละเมิดและทำให้ค่านิยมทางการค้าของโจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 50,000 บาทแก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์

Share