แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ทวิ หาได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะดังกล่าวในมาตรานี้เป็นทรัยพ์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วยไม่ แต่เป็นเพียงบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษหนักขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่ายานพาหนะใดเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งศาลมีอำนาจสั่งริบตามมาตรา 33(1) นั้น ต้องพิจารณาดูตามพฤติการณ์ของการกระทำแต่ละเรื่องไป ว่าผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะนั้นในการกระทำความผิดหรือไม่
จำเลยวิ่งราวสร้อยคอโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าแล้วพาหนีไปโดยใช้รถจักรยานสองล้อเป็นพาหนะ รถดังกล่าวเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ภายหลังการวิ่งราวทรพัย์หาใช่ใช้ในการวิ่งราวทรัพย์ไม่ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจวิ่งราวทรัพย์สร้อยคอทองคำของนายประเสริฐ ตั้งสมชัย โดยจำเลยฉกฉวกเอาซึ่งหน้าแล้วพาหนีไปโดยใช้รถจักรยานสองล้อเป็นพาหนะ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖, ๓๓๖ ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๓ และขอให้ริบรถจักรยานของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลดโทษใช้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ เหลือจำคุกจำเลย ๒ ปี รถจักรยานของกลางมิใช่สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ริบรถจักรยานของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่าใช้เป็นบทลงโทษริบรถจักรยานของกลางรายนี้ได้คือประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๓ ซึ่งบัญญัติเพิ่มเติมมาตรา ๓๓๖ ทวิขึ้น มาตรา ๓๓๖ ทวินี้มีใจความว่า ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง หาได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะดังกล่าวในมาตรานี้เป็นทรัยพ์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วยไม่ มาตราดังกล่าวจึงเป็นเพียงบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษหนักขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่ายานพาหนะใดเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งศาลมีอำนาจสั่งริบตามมาตรา ๓๓(๑) นั้น ต้องพิจารณาดูตามพฤติการณ์ของการกระทำแต่ละเรื่องไป ว่าผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะนั้นในการกระทำความผิดหรือไม่
สำหรับคดีนี้โจทก์ บรรยายฟ้องว่า จำเลยวิ่งราวสร้อยคอโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าแล้วพาหนีไปโดยใช้รถจักรยานสองล้อเป็นพาหนะ แสดงว่ารถจักรยานดังกล่าวเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ภายหลังการวิ่งราวทรพัย์หาใช่ใช้ในการวิ่งราวทรัพย์ไม่ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓(๑) ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาไม่ริบรถจักรยานของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
(ประถม วิเชียรเนตร วิทูร เทพทิทักษ์ ล้วน นิลกำแหง)