คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2528/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสามคนละส่วน รวม 3 ส่วน ใน 6 ส่วน ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยก็ต้องถือทุนทรัพย์ตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตน เมื่อที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสามตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมานั้นมีราคา 1,200,000 บาท ที่ดินพิพาทแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยต่อโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 197 ตำบลอีสาน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 20 ไร่ ราคา 1,200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยและบุตรของนายเฉื่อยอีก 2 คน คนละส่วนเท่า ๆ กัน หากไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้ให้นำทรัพย์สินมรดกออกขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 64258 เลขที่ดิน 1062 ตำบลอิสาณอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและไม่ใช่ทรัพย์มรดก หากฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก จำเลยก็ครอบครองมาเกินกว่า 10 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกทรัพย์มรดกตามโฉนดที่ดินเลขที่ 64258 เลขที่ดิน 1062 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลย นางสว่าง ชัยสมัคร และนางเกิด ชัยสมัคร คนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ถ้าการแบ่งไม่อาจทำได้ให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน คำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 64258 ให้ยก เนื่องจากไม่ปรากฏว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000บาท แทนโจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสามคนละส่วน รวม 3 ส่วน ใน 6 ส่วน คิดเป็นเงินรวม 1,200,000 บาท ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยก็ต้องถือทุนทรัพย์ตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตน เมื่อที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสามตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมานั้นมีราคา 1,200,000 บาทที่ดินพิพาทแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยต่อโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดก จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาขึ้นมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกฎีกาจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลย ค่าทนายความชั้นฎีกาเป็นพับ

Share