คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2528/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ยุติชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีแล้ว ปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลย่อมอยู่ในฐานะที่จะวินิจฉัยได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวย่อมต้องพิจารณาจากรูปแบบเครื่องหมายการค้าสลากเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้า และตัวสินค้าเป็นสำคัญหาจำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่มที่ใช้สินค้าซึ่งเป็นเพียงพยานความเห็นแต่อย่างใดไม่ซึ่งในคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้อง คำให้การ พยานเอกสารสลากเครื่องหมายการค้า และภาพถ่ายที่โจทก์และจำเลยอ้างส่งต่อศาลชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีได้ทั้งหมดแล้วการสืบพยานบุคคลไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยเป็นประการอื่นได้ จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานบุคคลต่อไป ศาลชอบที่จะมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปวงกลม 2 วง วงกลมด้านนอกเป็นเส้นทึบหนา ในวงกลมด้านบนมีอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า”EKOMAG”ด้านล่างของอักษรโรมันดังกล่าวมีเส้นคลื่น 2 เส้นอยู่ภายในวงกลม ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปวงกลม2 วง ซ้อนกัน และวงกลมด้านนอกเป็นเส้นทึบหนาเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในวงกลมด้านบนมีอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า “F.KOMC”ด้านล่างของอักษรโรมันดังกล่าวมีเส้นคลื่น 2 เส้นอยู่ภายในวงกลมเช่นกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณะ การวางตัวอักษรโรมัน ขนาดและจำนวนตัวอักษรโรมันและเส้นคลื่น 2 เส้น ซึ่งอยู่ใต้อักษรโรมัน คงมีข้อแตกต่างกันเพียงอักษรโรมันตัวแรกโจทก์ใช้อักษร “E” ส่วนจำเลยใช้อักษร”F” และตัวอักษรโรมันตัวท้าย โจทก์ใช้อักษร “G” ส่วนจำเลยใช้อักษร”C” และเส้นคลื่น 2 เส้นในวงกลมของโจทก์เป็นเส้นบางและค่อนข้างชิดกัน ส่วนของจำเลยเป็นเส้นคลื่น 2 เส้นหนาและห่างกันมากกว่าของโจทก์ ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่สาระสำคัญยากที่สาธารณชนจะสังเกตเห็นหรือแยกแยะข้อแตกต่างดังกล่าวได้ทั้งสลากเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้สีเหลืองและสีขาวเหมือนกับของโจทก์ รูปลักษณะและแบบของสลากก็เหมือนกับของโจทก์ก็มากโดยเฉพาะตัวอักษรโรมันตัว”F” จำเลยทำจุดหลังอักษรโรมัน”F” ให้คล้ายกับหางด้านล่างของอักษรตัว “E” ประกอบกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ใช้กับสินค้าเครื่องสูบน้ำทั่วไป ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าเครื่องสูบน้ำสำหรับใช้ในการกสิกรรมเรือกสวนไร่นา สินค้าของโจทก์และของจำเลยจึงเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าแล้ว แม้จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป”F.KOMAC” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป “EKOMAC” ก็ตาม แต่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลย ทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยยังเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้า แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องสูบน้ำทั่วไปและจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับเครื่องสูบน้ำสำหรับใช้ในการกสิกรรมเรือกสวนไร่นาซึ่งเป็นสินค้าต่างจำพวกกันก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยในการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยสำหรับสินค้าจำพวกที่ 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูป “EKOMAG”มีคลื่น 2 เส้น อยู่ด้านล่างตัวอักษร และมีวงกลม 2 วง ล้อมรอบวงกลมด้านนอกเป็นเส้นทึบหนา เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแหลมทองพัฒนาการยนต์ (1974) เป็นผู้ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ 55494 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2519 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดแหลมทองพัฒนาการยนต์ (1974) ได้โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้โจทก์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่3 มิถุนายน 2534 โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าเครื่องสูบน้ำทุกประเภทตลอดมาเป็นที่แพร่หลายรู้จักกันทั่วไปและเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 7ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำสำหรับใช้ในการกสิกรรมเรือกสวนไร่นา ที่ใช้กำลังไฟฟ้าในการเกษตรตามคำขอเลขที่ 220271 แต่นายทะเบียนแจ้งว่าไม่สามารถรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เนื่องจากเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอเลขที่ 219428 ให้โจทก์กับจำเลยตกลงกันเองหรือให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด จำเลยได้ลอกเลียนดัดแปลงและนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปยื่นคำขอจดทะเบียนโดยไม่มีสิทธิเนื่องจากโจทก์และจำเลยเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกันในห้างหุ้นส่วนจำกัดแหลมทองพัฒนาการยนต์ (1974) เมื่อห้างเลิกกิจการแล้ว โจทก์เป็นผู้รับสิทธิการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า จำเลยได้ร่วมโอนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ด้วยตนเอง แต่กลับนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปดัดแปลงต่อเติมมีรูปร่าง รูปทรงและการใช้ตัวอักษรเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “F.KOMAC” จำเลยจงใจนำไปขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าอื่นและสินค้าเครื่องสูบน้ำอันจะทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าหลงผิด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 220271 ของโจทก์และให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้แต่ผู้เดียว ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อง ใช้ และไม่ให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 219428 หรือคำอื่นใดในลักษณะเดียวกันอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้ารูป “EKOMAG” ของโจทก์ได้จดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 เท่านั้น ซึ่งใช้กับสินค้าเครื่องจักรทุกชนิด และส่วนของเครื่องจักร เว้นแต่เครื่องจักรที่ใช้ในการทำไร่นาเรือกสวนและส่วนของเครื่องจักรนั้น ๆส่วนเครื่องหมายการค้ารูป “F.KOMAC” ของจำเลยนั้นใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 คือ สินค้าจำพวกเครื่องจักรที่ใช้ในการทำไร่นาเรือกสวนและส่วนของเครื่องจักรนั้น ๆ ฉะนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน จำเลยไม่ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าทั้งสองแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 7 ก่อนโจทก์ จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยในการใช้เครื่องหมายการค้า (ที่ถูกเป็นเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่220271) สำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อง คำขออื่นไม่อาจบังคับได้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยชอบหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้อง คำให้การเอกสาร สลาก เครื่องหมายการค้า และภาพถ่าย ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตโจทก์กับจำเลยอ้างส่งเป็นพยานประกอบคำฟ้องและคำให้การโดยที่คู่ความมิได้โต้แย้งกัน มีเนื้อหาเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีได้แล้ว โดยเฉพาะเอกสารที่โจทก์และจำเลยอ้างส่งอันประกอบด้วยภาพเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลย สลากเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าเครื่องสูบน้ำของโจทก์และจำเลย รวมทั้งภาพถ่ายลักษณะสินค้าเครื่องสูบน้ำของโจทก์และจำเลย มีสาระและความชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานเพิ่มเติม ที่จำเลยฎีกาว่าความเห็นของศาลมิได้เป็นความเห็นของสาธารณชนและการพิจารณาว่าสาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดหรือไม่ต้องพิจารณาถึงสาธารณชนที่เป็นกลุ่มในบุคคลที่ใช้สินค้าประเภทนั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งจำเลยจะนำพยานมาสืบต่อไปนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ยุติชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีแล้ว ปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลย่อมอยู่ในฐานะที่จะวินิจฉัยได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวย่อมต้องพิจารณาจากรูปแบบเครื่องหมายการค้า สลากเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าและตัวสินค้าเป็นสำคัญ หาจำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่มที่ใช้สินค้าซึ่งเป็นเพียงพยานความเห็นแต่อย่างใดไม่ ซึ่งในคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้อง คำให้การ พยานเอกสาร สลากเครื่องหมายการค้า และภาพถ่ายที่โจทก์และจำเลยอ้างส่งต่อศาลชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีได้ทั้งหมดแล้ว การสืบพยานบุคคลไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยเป็นประการอื่นได้ จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานบุคคลต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปวงกลม 2 วง วงกลมด้านนอกเป็นเส้นทึบหนา ในวงกลมด้านบนมีอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า “EKOMAG” ด้านล่างของอักษรโรมันดังกล่าวมีเส้นคลื่น 2 เส้น อยู่ภายในวงกลม ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปวงกลม 2 วง ซ้อนกัน และวงกลมด้านนอกเป็นเส้นทึบหนาเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในวงกลมด้านบนมีอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า “F.KOMAC” ด้านล่างของอักษรโรมันดังกล่าวมีเส้นคลื่น 2 เส้น อยู่ภายในวงกลมเช่นกัน จึงเห็นได้ชัดเจนว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณะ การวางตัวอักษรโรมัน ขนาดและจำนวนตัวอักษรโรมันและเส้นคลื่น 2 เส้น ซึ่งอยู่ใต้อักษรโรมัน คงมีข้อแตกต่างกันบางประการเท่านั้นกล่าวคืออักษรโรมันตัวแรกโจทก์ใช้อักษร “E” ส่วนจำเลยใช้อักษร “F”และตัวอักษรโรมันตัวท้ายโจทก์ใช้อักษร “G” ส่วนจำเลยใช้อักษร”C” และเส้นคลื่น 2 เส้น ในวงกลมของโจทก์เป็นเส้นบางและค่อนข้างชิดกัน ส่วนของจำเลยเป็นเส้นคลื่น 2 เส้น หนาและห่างกันมากกว่าของโจทก์ ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อยไม่ใช่สาระสำคัญ ยากที่สาธารณชนจะสังเกตเห็นหรือแยกแยะข้อแตกต่างดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อพิจารณารูปลักษณะสลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยตามวัตถุพยานหมาย จ.12 สลากเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้สีเหลืองและสีขาวเหมือนกับของโจทก์ รูปลักษณะและแบบของสลากก็เหมือนกับของโจทก์มากโดยเฉพาะตัวอักษรโรมันตัว “F”จำเลยทำจุดหลังอักษรโรมัน “F” ให้คล้ายกับหางด้านล่างของอักษรตัว “E” ประกอบกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ใช้กับสินค้าเครื่องสูบน้ำทั่วไป ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าเครื่องสูบน้ำสำหรับใช้ในการกสิกรรมเรือกสวนไร่นาสินค้าของโจทก์และของจำเลยจึงเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยดังกล่าวจึงถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าแล้ว
ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิดีกว่ากันในการใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 ปัญหานี้ปรากฏตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียน หนังสือคู่มือต่ออายุการจดทะเบียน และสำเนาหนังสือสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าว่าเครื่องหมายการค้ารูป “EKOMAG” เป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแหลมทองพัฒนาการยนต์ (1974) ได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2519 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 ทั้งจำพวกห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสูบน้ำโดยใช้เครื่องหมายการค้ารูป “EKOMAG” ต่อมาเมื่อวันที่ 23พฤษภาคม 2534 ห้างหุ้นส่วนจำกัดแหลมทองพัฒนาการยนต์ (1974)ได้โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้โจทก์และโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ารูป “EKOMAG” กับสินค้าจำพวกที่ 6 ประเภท เครื่องสูบน้ำต่อมา จำเลยเพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป “F.KOMAC”เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2534 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 อันเป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรสำหรับใช้ในการทำไร่นาเรือกสวนและส่วนของเครื่องจักรนั้น ๆ และจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับเครื่องสูบน้ำสำหรับใช้ในการกสิกรรมเรือกสวนไร่นาที่ใช้กำลังไฟฟ้าในการเกษตรประกอบกับปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธและสัญญาเลิกห้างหุ้นส่วนว่า จำเลยเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดแหลมทองพัฒนาการยนต์ (1974) ร่วมกับโจทก์และทราบดีถึงการที่โจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้ารูป “F.EKOMAG” มาเป็นของโจทก์ดังนี้ แม้จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป”F.KOMAG” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูป “EKOMAG” ตามคำขอ เลขที่220271 ก็ตาม แต่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยยังเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าดังได้วินิจฉัยมาแล้ว แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องสูบน้ำทั่วไปและจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับเครื่องสูบน้ำสำหรับใช้ในการกสิกรรมเรือกสวนไร่นาซึ่งเป็นสินค้าต่างจำพวกกันก็ตามก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยในการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยสำหรับสินค้าจำพวกที่ 7
พิพากษายืน

Share