แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวเลขที่ 20, 22 และ 24 โดยใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งด้านหน้าติดถนนซอยเจริญนคร 33 ส่วนด้านหลังติดถนนซอยเจริญนคร 35 ที่ดินโฉนดเลขที่ 2021 และโฉนดเลขที่ 2022 อยู่ติดต่อกันและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ใช้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวทำเป็นถนนซอยเจริญนคร 35ที่พิพาท และทางทิศตะวันตกของที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 783ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 การที่จำเลยที่ 3 ผู้เจาะกำแพงซึ่งใช้เป็นผนังด้านหลังของตึกแถวเลขที่ 20 แล้วทำเป็นประตูพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3แม้ประตูพิพาทเวลาปิดเปิดใช้วิธีเปิดเข้าหาตัวบ้านซึ่งไม่รุกล้ำออกไปในถนนซอยเจริญนคร 35 ของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเจ้าของตึกแถวเลขที่ 20 ไม่มีสิทธิใช้ถนนซอยเจริญนคร 35 ดังนั้นการผ่านประตูพิพาทเพื่อใช้ถนนพิพาทของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเจ้าของตึกแถวเลขที่ 20 ใช้ถนนซอยเจริญนคร 35 โดยใช้เดินออกจากบ้านเลขที่ 4ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 783 ไปยังตึกแถวเลขที่ 20 โดยผ่านทางประตูพิพาทนั้นเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงชอบที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้ จะเพียงแต่กล่าวอ้างมาในคำแก้ฎีกาว่าไม่เป็นการละเมิดหาได้ไม่
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อประตูด้านหลังตึกแถวเลขที่ 20 ที่จำเลยทำขึ้นในตึกแถวของจำเลย แล้วให้ก่ออิฐฉาบปูนเป็นผนังทึบด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง ซึ่งคำขอดังกล่าวเป็นคำขอประธานส่วนที่โจทก์มีคำขอเรียกค่าเสียหายมาด้วยนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ คดีของโจทก์จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคสอง
ตึกแถวเลขที่ 20 และกำแพงด้านหลังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 เอง และประตูพิพาทก็ใช้วิธีปิดเปิดโดยเปิดเข้าหาตัวบ้านซึ่งไม่มีการรุกล้ำออกไปดังนั้นจำเลยที่ 3 ชอบที่จะทำประตูพิพาทได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด
ฎีกาโจทก์ที่ว่า การที่จำเลยที่ 3 ทำประตูด้านหลังตึกแถวก็เพื่อจงใจจะใช้ถนนซอยเจริญนคร 35 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินสมควรแก่เหตุ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1337 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิทำประตูดังกล่าวนั้นเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องรวม 3 ข้อ คือข้อ (1) ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อประตูพิพาทออกและก่ออิฐเป็นผนังทึบ ข้อ (2)ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 1เมษายน 2533 จนกว่าจะรื้อและปิดประตูพิพาท และข้อ (3) ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถรื้อและปิดประตูพิพาทตามคำขอข้อ (1) ได้ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถจะบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติตามคำขอข้อ (1) ได้ เพราะตึกแถวและประตูพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เอง ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3ชอบที่จะทำได้ และศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้พิพากษาให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติตามคำขอข้อ (3) ของโจทก์ เพราะคำขอบังคับตามข้อ (2) และข้อ (3) เป็นคำขอต่อเนื่องกัน อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาข้อดังกล่าวโดยชอบแล้ว