แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ออกแบบก่อสร้าง ทำการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมยานนาวาตามสัญญาว่าจ้าง โดยมีข้อตกลงในการประกันผลงานในข้อ 5.3 ซึ่งให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างในการดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เองในกรณีที่เกิดการชำรุดเสียหายแก่อาคารซึ่งเหตุชำรุดเสียหายเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง และโจทก์ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไข ซ่อมแซมภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดแล้ว แต่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้เสร็จภายในเวลาที่โจทก์กำหนด โดยผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้สัญญาว่าจ้างข้อ 10.2 ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา ยังให้สิทธิโจทก์ที่จะว่าจ้างผู้อื่นมาทำงานแทนผู้รับจ้างได้โดยมิต้องบอกกล่าวหรือให้ผู้รับจ้างยินยอมแต่อย่างใด และค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้รับจ้างยินยอมให้โจทก์เรียกร้องจากผู้รับจ้างทั้งหมด สัญญาข้อที่ 10.2 นี้อยู่ในส่วนของเงื่อนไขทั่วไปของสัญญาว่าจ้าง จึงไม่ใช่ใช้เฉพาะกรณีที่งานของจำเลยที่ 1 ยังไม่แล้วเสร็จเท่านั้น แต่ใช้ได้ตลอดเวลาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีนิติสัมพันธ์กันอยู่และยังเป็นข้อตกลงตามสัญญาอย่างหนึ่งที่ให้สิทธิโจทก์ในการว่าจ้างบุคคลภายนอกทำงานแทนผู้รับจ้างได้ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา สำหรับกรณีคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดพบพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับกรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา เมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้วปรากฏว่างานที่ว่าจ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลังจึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น แต่กรณีคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นซึ่งผูกพันกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามสัญญา กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601 ทั้งกรณีของโจทก์ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อโจทก์พบความชำรุดบกพร่องในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแก้ไขอาคารรวม 2 ครั้งแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบค่าจ้างที่โจทก์เสียไปทั้งหมดตามสัญญาข้างต้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 ซึ่งนับแต่วันที่พบความชำรุดบกพร่องถึงวันฟ้องยังไม่เงิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 91,401.35 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 88,275 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยทั้งสองสละประเด็นต่อสู้อื่นทั้งหมด โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 88,275 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,126.35 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงประเด็นเดียวว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ออกแบบก่อสร้าง ทำการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมยานนาวา ตามสัญญาจ้างโจทก์ได้รับมอบงานแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และจำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างครบถ้วนแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 โจทก์พบว่ามีน้ำรั่วซึมที่ห้องประชุมชั้น 3 ถึงชั้น 5 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขตามหนังสือลงวันที่ 23 กันยายน 2545 และวันที่ 16 ตุลาคม 2545 หลังจากนั้นโจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกวารีคอนเซนเทรทซ่อมแซมแก้ไขแล้ว โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างที่โจทก์เสียไปเป็นค่าเสียหายคืนแก่โจทก์รวม 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 และวันที่ 18 ตุลาคม 2548 จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบงานและปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์ตรวจพบความชำรุดบกพร่องเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 (ที่ถูก 9 สิงหาคม 2545) ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พบความชำรุบกพร่อง คือ ภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2546 (ที่ถูก 9 สิงหาคม 2546) แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว และแม้โจทก์จะเสียค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้แก่บุคคลภายนอกก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องนอกจากที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 และ 601 เห็นว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ออกแบบก่อสร้าง ทำการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมยานนาวาตามสัญญาว่าจ้าง โดยมีข้อตกลงในการประกันผลงานในข้อ 5.3 ซึ่งให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างในการดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เองในกรณีที่เกิดการชำรุดเสียหายแก่อาคาร ซึ่งเหตุชำรุดเสียหายเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง และโจทก์ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไข ซ่อมแซมภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดแล้วแต่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้เสร็จภายในเวลาที่โจทก์กำหนด โดยผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้สัญญาว่าจ้างข้อ 10.2 ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา ยังให้สิทธิโจทก์ที่จะว่าจ้างผู้อื่นมาทำงานแทนผู้รับจ้างได้โดยมิต้องบอกกล่าวหรือให้ผู้รับจ้างยินยอมแต่อย่างใดและค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้รับจ้างยินยอมให้โจทก์เรียกร้องจากผู้รับจ้างทั้งหมดสัญญาข้อที่ 10.2 นี้อยู่ในส่วนของเงื่อนไขทั่วไปของสัญญาว่าจ้าง แต่ใช้ได้ตลอดเวลาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีนิติสัมพันธ์กันอยู่และยังเป็นข้อตกลงตามสัญญาอย่างหนึ่งที่ให้สิทธิโจทก์ในการว่าจ้างบุคคลภายนอกทำงานแทนผู้รับจ้างได้ในกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา สำหรับกรณีคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับกรณีที่เกิดขึ้นตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 กล่าวคือ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา เมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้วปรากฏว่า งานที่ว่าจ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลังจึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น แต่กรณีคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นซึ่งผูกพันกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามสัญญา กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 601 ทั้งกรณีของโจทก์ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องให้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้นเมื่อโจทก์พบความชำรุดบกพร่องในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมแก้ไขอาคารรวม 2 ครั้งแล้ว คือ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2545 และวันที่ 16 ตุลาคม 2545 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบค่าจ้างที่โจทก์เสียไปทั้งหมดตามสัญญาข้างต้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 ซึ่งนับแต่วันที่พบความชำรุดบกพร่องถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ