คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมียาสูบผลิตในต่างประเทศที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในความครอบครอง กับการมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบรายเดียวกันนั้นไว้เพื่อขาย เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่ผลิตในต่างประเทศจำนวนน้ำหนักเกินกว่า 500 กรัม ที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เป็นบุหรี่ซิกาแรต มีน้ำหนัก 33,170 กรัม จะต้องปิดแสตมป์ยาสูบเป็นเงิน 3,980.40 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 4, 19, 24, 44, 49, 50 พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502 มาตรา 17, 18 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสั่งริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ. 2509 มาตรา 19, 49 ปรับ 39,804 บาท มาตรา 24, 50 ปรับ 59,706 บาท รวมกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับ 99,510 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 49,755 บาท ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 19, 24, 49, 50 พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2512 มาตรา 17, 18 อันเป็นความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักฐานมีไว้เพื่อขายยาสูบซึ่งมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามมาตรา 24, 50 ให้ปรับเป็นเงินสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดรวมเป็นเงิน 59,706 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 29,853 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนมีกำหนด 1 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาว่า การมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในความครอบครองกับการมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้เพื่อขาย เป็นความผิดสองกรรมศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิด

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ยาสูบผลิตในต่างประเทศของกลางที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบซึ่งจำเลยมีไว้เพื่อขาย ก็คือยาสูบผลิตในต่างประเทศที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบซึ่งจำเลยมีอยู่ในความครอบครองนั่นเอง มิใช่ยาสูบผลิตในต่างประเทศรายอื่นที่จำเลยมีไว้เพื่อขายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลย มิใช่ความผิดสองกรรม

พิพากษายืน

Share