คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนโจทก์แถลงถึงเหตุผลของการถอนฟ้องว่า ตอนออกจากงานโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเป็นค่าชดเชยตามระเบียบแล้ว เมื่อทราบจากคำให้การจำเลยว่า จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวเป็นค่าชดเชย จึงไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป ขอถอนฟ้อง คำแถลงดังกล่าวมีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือแปลได้ว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องในมูลกรณีเดียวกันนั้นกับจำเลยอีกในภายหลัง เป็นแต่เพียงโจทก์เชื่อตามคำให้การของจำเลยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จึงขอถอนฟ้องเท่านั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ใหม่
จำเลยวางระเบียบการจ่ายเงินทดแทนให้พนักงานและคนงานประจำที่ลาออกจากหน้าที่การงาน หรือถูกเลิกจ้าง ต่อมาได้เปลี่ยนคำว่าเงินทดแทนเป็นค่าชดเชย แม้จะเปลี่ยนคำให้ตรงกับคำในกฎหมายแต่หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยของจำเลยก็ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปตามระเบียบของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอนแทนการทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานตลอดมาจนออกจากงานหรือลาออกเอง หรือถึงแก่ความตายดังนี้เงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานข้อ 47 ของประกาศกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่พนักงานขับรถยนต์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,905 บาทกับค่าครองชีพอีกเดือนละ200 บาท รวมเป็นเงิน 3,105 บาท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นเงิน 18,630บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี เป็นเงิน 6,986.25 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 25,616.25 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยซึ่งเดิมจำเลยเรียกว่า’เงินค่าทดแทน’ ให้แก่โจทก์ตามกฎหมายแรงงานแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก และโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานมาแล้วครั้งหนึ่ง
ศาลแรงงานพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน25,616.25 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘…ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 บัญญัติถึงผลของการถอนฟ้องไว้ว่าการถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นฟ้องนั้น ทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย และโจทก์อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความปรากฏว่า ในคดีเดิมโจทก์ได้แถลงถึงเหตุผลของการถอนฟ้องไว้ว่า ตอนออกจากงานโจทก์ได้รับเงินจากจำเลย เป็นเงิน 62,300 บาท เป็นค่าชดเชยตามระเบียบแล้วเมื่อทราบจากคำให้การจำเลยว่า จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวเป็นค่าชดเชย จึงไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป ขอถอนฟ้องคำแถลงดังกล่าวไม่มีข้อความชัดแจ้ง หรืออาจแปลได้ว่าโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องในมูลกรณีเดียวกันนั้นกับจำเลยอีกในภายหลัง เป็นแต่เพียงโจทก์เชื่อตามคำให้การของจำเลยว่าตนไม่มีสิทธิจะได้รับค่าชดเชย จึงขอถอนฟ้องเท่านั้น การที่โจทก์ถอนฟ้องในคดีเดิม จึงไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์หมดไป โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ได้ใหม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ระเบียบของจำเลยว่าด้วยการจ่ายเงินทดแทนให้พนักงานและคนงานประจำที่ลาออกจากหน้าที่การงาน หรือถูกเลิกจ้าง(พ.ศ. 2512) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนคำว่าเงินทดแทน เป็นค่าชดเชยตามคำสั่งที่ 241/2518 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2518 มีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยแตกต่างจากการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามระเบียบของจำเลยข้อ 4 จ่ายให้แก่พนักงานหรือคนงานที่ลาออกจากงานโดยไม่มีความผิด ที่ให้ออกจากงานเพราะหย่อนความสามารถในการทำงาน ที่ถึงแก่ความตายหรือที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากยุบเลิกกิจการ นอกจากนี้ หลักเกณฑ์การคิดค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ก็แตกต่างจากการคิดค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือ ถ้าอายุการปฏิบัติงาน(ทำงาน) ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 3 ปี ให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับเงินเดือนรับจริงครั้งสุดท้าย 1 เดือน ถ้าตั้งแต่ 3 ปี ถึง 5 ปี ให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับเงินเดือนรับจริงครั้งสุดท้าย 2 เดือน ซึ่งจะเห็นได้ว่าต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไปตามระเบียบนี้จึงมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานตลอดมาจนออกจากงาน หรือลาออกเอง หรือถึงแก่ความตาย แต่ค่าชดเชยนั้นกฎหมายกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดใด ๆตามข้อ 47 ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเท่านั้น แม้ตามระเบียบของจำเลยจะให้เรียกว่า ค่าชดเชยก็ตามก็ไม่ถือว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share