คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติกรรมอำพรางที่ท่านให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 118 วรรค 2 น้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่กระทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ในกรณีที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้กระทำอย่างถูกต้องจึงจะบังคับได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1783/2492 ฉะนั้น การจำนองที่ดินที่เพียงแต่ว่าได้ตกลงกันและหาได้ทำตามแบบดังว่าไม่ จึงไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านเรือนของโจทก์ และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทในฐานตัวแทนหลวงยุทธสารประสิทธิ์ผู้เป็นบิดาโจทก์ เพราะจำเลยกับหลวงยุทธสารประสิทธิ์มีนิติกรรมจำนองกันอยู่ โดยจำเลยเอาเงินหลวงยุทธสารประสิทธิ์มาซื้อที่ดินคืนจากนายสิน และจำนองที่พิพาทกับหลวงยุทธสารประสิทธิ์ แต่เพื่อไม่ต้องจดทะเบียน ๒ ครั้ง เสียค่าธรรมเนียม จึงให้โจทก์ลงชื่อเป็นผู้ซื้อเสียเอง จำเลยคงอยู่และเก็บค่าเช่าที่พิพาทต่อมา โดยไม่ได้อาศัยโจทก์
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตั้งประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่า ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทไปในฐานะตัวแทนของหลวงยุทธสารประสิทธิ์ผู้บิดาเนื่องจากจำเลยกับหลวงยุทธสารประสิทธิ์มีนิติกรรมอำพรางต่อกัน คือ ได้ตกลงจำนองที่นี้กันไว้ ข้อต่อสู้นี้รับฟังได้หรือไม่ ? แล้ววินิจฉัยว่า ที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จะฟังว่าโจทก์เป็นตัวแทนหลวงยุทธสารประสิทธิ์ได้อย่างไร และศาลฎีกาได้กล่าวต่อไปว่า ข้อที่จำเลยกล่าวอ้างว่ามีนิติกรรมอำพรางต่อกัน คือ ได้มีการตกลงจำนองที่ดินนี้ไว้ตามที่กล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การจำนองที่จำเลยเอ่ยถึงนี้ไม่ใช่เรื่องจำนองจริง ๆ แต่เป็นเพียงตกลงกันเท่านั้น ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งนิติกรรมอำพรางที่ท่านให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ วรรค ๒ นั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่กระทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่นในกรณีที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ได้กระทำอย่างถูกต้องจึงจะบังคับได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๓/๒๔๙๒ แต่การจำนองที่ดินที่จำเลยว่าได้ตกลงกันนั้น หาได้ทำตามแบบเช่นว่าไม่ จึงไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ฯลฯ
พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านรายพิพาท ฯลฯ

Share