คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าวจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับที่เรียกเก็บลงบางส่วน โจทก์เห็นว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายเพราะโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมใบกำกับภาษีไว้ถูกต้องชัดเจนแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของโจทก์ผิดต่อมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากรขอศาลงดเบี้ยปรับแก่โจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วส่วนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายใด เป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์ขอคืนภาษีเป็นใบกำกับภาษีซื้อของเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ เมษายน และพฤษภาคม 2535ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีซื้อที่แท้จริง โจทก์ชำระภาษีซื้อไปตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจริง แต่ใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นใบกำกับภาษีซื้อสำหรับการก่อสร้างอาคารของโจทก์ซึ่งกำลังก่อสร้างเพื่อให้เช่าเป็นสำนักงานและใช้ส่วนหนึ่งเป็นสำนักงานของโจทก์ในการประกอบกิจการของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองเฉพาะส่วนที่ใช้เป็นสำนักงานของโจทก์เท่านั้น แต่โจทก์ต้องปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม 2535 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จะเห็นได้ว่าภาษีซื้อที่โจทก์ขอคืนและได้รับคืนไปแล้วคือ ภาษีเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535ซึ่งเป็นเดือนแรกและเดือนที่สองของการประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มกล่าวคือเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2534 ส่วนหลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับการก่อสร้างอาคารตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวแม้จะใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ก็ตามแต่เพิ่งประกาศในวันที่ 9 มีนาคม 2535 หลังจากที่โจทก์ขอคืนและรับภาษีซื้อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 ไปแล้วอีกทั้งผู้ตรวจสอบภาษีและผู้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ต่างก็มีความเห็นว่าโจทก์ไม่จงใจกระทำผิดและไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีสมควรลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ เมื่อคำนึงว่าภาษีที่โจทก์ขอคืนเป็นเดือนแรกและเดือนที่สองที่ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มและเมื่อโจทก์ถูกทักท้วงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีดังกล่าวโจทก์ก็คืนภาษีในส่วนที่รับคืนไปแล้วโดยมิได้อิดเอื้อนและเกี่ยงงอน กรณีน่าเชื่อว่าโจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อตามฟ้องได้จึงสมควรงดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์ทั้งหมด กรณีของโจทก์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2) เมื่อบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวให้โจทก์มีสิทธิฟ้องต่อศาลได้ หากเมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ย่อมเข้าใจได้แล้วว่า ศาลมีอำนาจในการพิจารณาว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่หาใช่ว่าการงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานจำเลยซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่มีบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรให้อำนาจศาลงดหรือลดเบี้ยปรับดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ เพราะหากแปลความว่าความว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องต่อศาลได้ แต่ห้ามศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่แล้ว การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.73.1 เลขที่ 1070/5/100405 ถึงเลขที่ 1070/5/100408ลงวันที่ 4 มีนาคม 2536 รวม 4 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 282 ก./2537, 282 ข./2537,282 ค./2537 และ 282 ง./2537 เสียหากพิจารณาว่าโจทก์กระทำผิดก็ขอให้งดเบี้ยปรับด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 1070/5/100405, 1070/5/100406, 1070/5/100407และ 1070/5/100408 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 282 ก./2537, 282 ข./2537,282 ค./2537 และ 282 ง./2537
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่า การประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบอย่างไรและไม่ชอบด้วยกฎหมายใดคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไรจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับที่เรียกเก็บสำหรับเดือนมกราคม 2535 เดือนกุมภาพันธ์ 2535เดือนเมษายน 2535 และเดือนพฤษภาคม 2535 ลงเป็นเงิน 41,300 บาท 21,162.76 บาท 22,845.58 บาท และ 53,377.68 บาท ตามลำดับ โจทก์เห็นว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายเพราะโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมใบกำกับภาษีไว้ถูกต้องชัดเจนแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของโจทก์ผิดต่อมาตรา 89(4)แห่งประมวลรัษฎากร ขอศาลงดเบี้ยปรับแก่โจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ส่วนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายใดเป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมมีปัญหาต่อไปว่าศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้งดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับเดือนภาษีมกราคม กุมภาพันธ์ เมษายน และพฤษภาคม 2535ที่เรียกเก็บจากโจทก์ทั้งหมดถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่าใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์ขอคืนภาษีเป็นใบกำกับภาษีซื้อของเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ เมษายน และพฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีซื้อที่แท้จริง โจทก์ชำระภาษีซื้อไปตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจริง แต่ใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นใบกำกับภาษีซื้อสำหรับการก่อสร้างอาคารของโจทก์ซึ่งกำลังก่อสร้างเพื่อให้เช่าเป็นสำนักงานและใช้ส่วนหนึ่งเป็นสำนักงานของโจทก์ในการประกอบกิจการของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองเฉพาะส่วนที่ใช้เป็นสำนักงานของโจทก์เท่านั้น แต่โจทก์ต้องปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยการซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม 2535ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จะเห็นได้ว่าภาษีซื้อที่โจทก์ขอคืนและได้รับคืนไปแล้วคือ ภาษีเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเป็นเดือนแรกและเดือนที่สองของการประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2535 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2534 ส่วนหลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับการก่อสร้างอาคารตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวแม้จะใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ก็ตาม แต่เพิ่งประกาศในวันที่ 9 มีนาคม 2535หลังจากที่โจทก์ขอคืนและรับภาษีซื้อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535ไปแล้ว ที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าโจทก์ไม่เข้าใจหลักเกณฑ์การขอคืนภาษีซื้อและเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อได้นางสาวพัทยา ประเสริฐสุขสกุล ผู้ตรวจสอบภาษี และนายวิบูลย์ชัยชนะศิริวิทยา ผู้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นพยานฝ่ายจำเลยต่างก็มีความเห็นว่า โจทก์ไม่จงใจกระทำผิดและไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและต่างมีความเห็นว่า ควรลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์เมื่อคำนึงว่าภาษีที่โจทก์ขอคืนเป็นเดือนแรกและเดือนที่สองที่ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มและเมื่อโจทก์ถูกทักท้วงว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีดังกล่าวโจทก์ก็คืนภาษีในส่วนที่รับคืนไปแล้วโดยมิได้อิดเอื้อนและเกี่ยงงอน กรณีน่าเชื่อว่าโจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์มีสิทธิขอคืนภาษีซื้อตามฟ้องได้จึงสมควรงดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์ทั้งหมดที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าการงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานจำเลยซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารไม่มีบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรให้อำนาจศาลลดหรืองดเบี้ยปรับได้นั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) บัญญัติว่า”เว้นแต่กรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์” กรณีของโจทก์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามบทกฎหมายดังกล่าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่ออุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวให้โจทก์มีสิทธิฟ้องต่อศาลเมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมเข้าใจได้แล้วว่า ศาลมีอำนาจในการพิจารณาว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากแปลความว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องต่อศาลได้ แต่ห้ามศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่แล้ว การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด
พิพากษายืน

Share