คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาต และแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่สร้างโดยมิได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติท้องถิ่นเสียก่อนที่จะมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารอย่างกฎหมายเดิมพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในส่วนซึ่งบัญญัติถึงการรื้อถอนและแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่สร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นวิธีการบังคับคดีในส่วนแพ่ง เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ จึงมีผลย้อนหลังไปใช้บังคับถึงการปลูกสร้างอาคารของจำเลยในปี พ.ศ. 2521 ด้วย ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว กลับมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทอันเป็นการปฏิบัติข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและฟ้องคดีนี้ภายหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ถึง 3 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทคดีนี้ได้ แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ก่อสร้างอาคารเป็นบ้านไม้สองชั้นหลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งมีหน้าต่างอยู่ห่างจากเขตที่ดินเอกชนประมาณ30 เซนติเมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามกฎหมายขอให้พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตหากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่าอาคารของจำเลยเป็นบ้านไม้สองชั้น ตามฟ้องนายสุวรรณ ฮะแสวง สามีจำเลยได้ก่อสร้างไว้เมื่อ 30 ปีเศษมาแล้วในสมัยที่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ยังไม่ใช้บังคับในท้องที่นี้ เมื่อสร้างแล้วก็ได้ใช้ประโยชน์ตลอดมาอาคารส่วนใดชำรุดทรุดโทรม สามีจำเลยก็ซ่อมแซม ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดทักท้วงห้ามปราม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาท (ตามแผนผัง จ.9)หากไม่รื้อก็ให้โจทก์รื้อได้เอง โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่าบ้านพิพาทของจำเลยสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์จริง และสร้างติดกับที่ดินของผู้อื่นโดยมิได้เว้นไว้ห่าง2 เมตร มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 อันจะต้องรื้ออาคารดังกล่าวหรือไม่…รูปคดีฟังได้ว่าจำเลยเพิ่งสร้างบ้านพิพาทนี้ขึ้นใหม่และอยู่ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพมาแต่เดิม โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ ส่วนโจทก์จะฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทได้หรือไม่นั้น ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2521 ที่จำเลยปลูกสร้างอาคารพิพาทนั้นอยู่ในระหว่างประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 และได้มีเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 62แก้ไขเพิ่มเติมโดยเทศบัญญัติ เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2514 ระบุว่า “อาคารที่ปลูกสร้างชิดเขตที่ดินต่างผู้ครอบครอง อนุญาตให้เฉพาะฝาหรือผนังด้านที่ไม่มีประตูหน้าต่างและช่องระบายอากาศ อยู่ชิดเขตที่ดินได้พอดี แต่มิให้ส่วนใดของอาคารรุกล้ำเขตที่ดินข้างเคียง” ซึ่งในขณะที่จำเลยปลูกสร้างอาคารพิพาท จำเลยมีสิทธิปลูกสร้างอาคารชิดเชตที่ดินของผู้อื่นได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งพระราชบัญญัติและเทศบัญญัติดังกล่าวและต่อมาใน ปี พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2479 ถูกยกเลิกและประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 แทน ความในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติใหม่นี้บัญญัติว่าการก่อสร้างอาคารที่มิได้รับอนุญาต และขัดต่อข้อบัญญัติท้องถิ่นแต่ยังสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอนุญาตและดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารนั้นให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาก่อน หากเจ้าของอาคารไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตและไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงภายในกำหนด เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงจะมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควรได้ จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอนุญาตและแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่สร้างโดยมิได้รับอนุญาตและขัอต่อข้อบัญญัติท้องถิ่นเสียก่อน แทนที่จะให้อำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารเพียงประการเดียวตามกฎหมายเดิมพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ในส่วนซึ่งบัญญัติถึงการรื้อถอนและแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่สร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นวิธีการบังคับคดีในส่วนแพ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ จึงมีผลย้อนหลังไปใช้บังคับถึงการปลูกสร้างอาคารของจำเลยในปี พ.ศ. 2521 ด้วย เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว แต่หลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พงศ. 2522 แล้ว ไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวกลับคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทอันเป็นการปฏิบัติข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และฟ้องคดีนี้ภายหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ถึง 3 ปีโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลรื้อถอนอาคารพิพาทคดีนี้ได้แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ไม่ต้อวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรื้ออาคารพิพาทนั้นไม่ต้องด้วยความเห้นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง.

Share