แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองเป็นลูกวงแชร์ที่ ป. เป็นนายวงแชร์ต่างก็เข้าร่วมเล่นแชร์ด้วยกันถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์คนอื่นๆ มีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและมีสิทธิในการเข้าประมูลระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันจึงต้องมีความผูกพันต่อกันด้วยหาใช่จะผูกพันเฉพาะแต่นายวงแชร์ไม่ สำหรับ ป. ที่เป็นนายวงแชร์ เป็นการกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับภาระรับผิดชอบรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์ทุกคนเพื่อส่งมอบแก่สมาชิกอื่นผู้ประมูลได้ตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ประมูลได้และรับเงินไปแล้ว นายวงแชร์ได้เก็บเงินค่าแชร์จากโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์ไปเพื่อชำระให้จำเลยทั้งสี่แล้ว ยังจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะครบ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ประมูลเงินแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันจะต้องส่งเงินคืนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลและ ป. นายวงแชร์หลบหนีไป สัญญาแชร์วงนี้จึงเลิกเล่นกันก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไป คู่กรณีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสี่ต้องส่งเงินที่รับไปคืนโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมคืน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้คืนเงินนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 นางประภาหรือปุกเป็นนายวงแชร์ ตั้งวงแชร์ขึ้นมา 1 วง เป็นแชร์มือละ 1,000 บาท จำนวน 28 มือโจทก์ที่ 1 เข้าร่วมเล่นแชร์จำนวน 5 มือ โจทก์ที่ 2 ร่วมเล่นแชร์ จำนวน 7 มือ และนายวงแชร์ได้จัดให้มีการประมูลแชร์รวม 4 งวด โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ประมูลแชร์ได้แต่ละงวดตามลำดับ และในงวดที่ 5 นายวงแชร์ต้องจัดให้มีการประมูลในวันที่ 10 ธันวาคม 2548 แต่นายวงแชร์หลบหนีไม่ยอมจัดให้มีการประมูล แชร์จึงเลิกล้มจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ที่ประมูลแชร์ไปแล้วและได้รับเงินค่าแชร์จากโจทก์ทั้งสอง เมื่อวงแชร์เลิกล้มจำเลยทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าแชร์และผลประโยชน์ตามที่เสนอแก่โจทก์ทั้งสองทันที โจทก์ทั้งสองติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 9,046.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 8,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 12,923.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 12,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 10,339.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 14,475.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 14,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 11,114.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 10,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 15,560.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 15,050 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 12,923.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 12,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 18,071.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 17,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ นางประภาหรือปุก และผู้มีชื่อคนอื่นอีกได้ร่วมเล่นแชร์กัน 1 วง ตามฟ้องโดยมีนางประภาหรือปุกเป็นนายวงแชร์ จำเลยทั้งสี่ประมูลแชร์ได้ในงวดที่หนึ่งถึงที่สี่ตามลำดับและได้เงินแชร์ไปครบจำนวนแล้ว ต่อมานางประภาหรือปุกหลบหนี แชร์วงดังกล่าวจึงเลิกเล่นกัน
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองต่างเป็นลูกวงแชร์ที่นางประภาหรือปุกเป็นนายวงแชร์ต่างก็เข้าร่วมเล่นแชร์ด้วยกัน ดังนั้นย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์คนอื่นๆ ต่างมีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและย่อมมีสิทธิในการเข้าประมูลระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องมีความผูกพันต่อกันหาใช่จะผูกพันเฉพาะแต่นายวงแชร์ไม่ สำหรับนางประภาหรือปุกที่เป็นนายวงแชร์นั้น เป็นการกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับภาระรับผิดชอบรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์ทุกคนเพื่อส่งมอบแก่สมาชิกอื่นผู้ประมูลได้ตามที่ตกลงกันไว้เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ประมูลได้และรับเงินไปแล้ว นายวงแชร์ได้เก็บเงินค่าแชร์จากโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์ไปเพื่อชำระให้จำเลยทั้งสี่แล้ว ยังจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะครบ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ประมูลเงินแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันจะต้องส่งเงินคืนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลนางประภาหรือปุกนายวงแชร์หลบหนี สัญญาแชร์วงนี้จึงเลิกเล่นกันก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไป คู่กรณีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสี่ต้องส่งเงินที่รับไปคืนโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมคืน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้คืนเงินนั้นได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าแชร์จำนวน 5,000 บาท และค่าผลประโยชน์จำนวน 3,750 บาท รวมเป็นเงิน 8,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัด (10 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าแชร์จำนวน 7,000 บาท และค่าผลประโยชน์จำนวน 5,250 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 12,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันผิดนัด (10 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าแชร์จำนวน 5,000 บาท และค่าผลประโยชน์จำนวน 5,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันผิดนัด (10 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าแชร์จำนวน 7,000 บาท และค่าผลประโยชน์จำนวน 7,000 บาท รวมเป็นเงิน 14,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันผิดนัด (10 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินค่าแชร์จำนวน 5,000 บาท และค่าผลประโยชน์จำนวน 5,750 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 10,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันผิดนัด (10 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 3 จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินค่าแชร์จำนวน 7,000 บาท และค่าผลประโยชน์จำนวน 8,050 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 15,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันผิดนัด (10 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 3 จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าแชร์จำนวน 5,000 บาท และค่าผลประโยชน์จำนวน 7,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 12,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันผิดนัด (10 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 4 จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าแชร์จำนวน 7,000 บาท และค่าผลประโยชน์จำนวน 10,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 17,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันผิดนัด (10 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 4 จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ