แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในขณะที่เกิดเหตุละเมิดขึ้นนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ โจทก์ในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดซึ่งลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้กระทำต่อทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนนั้นได้ และอำนาจฟ้องหรือสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อผู้กระทำละเมิดต่อทรัพย์นั้นเป็นบุคคลสิทธิ มิใช่ทรัพย์สิทธิที่ติดตามไปกับตัวทรัพย์ เมื่อสิทธิดังกล่าวได้เกิดมีขึ้นแล้ว แม้ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนนั้นก็ตาม อำนาจฟ้องหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็หาโอนไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางด้วยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
รถยนต์ของจำเลยที่ชนรถโจทก์ได้ประกันไว้กับบริษัทประกันภัย เมื่อเกิดเหตุแล้วตัวแทนบริษัทประกันภัยไปตรวจ เห็นว่ารถฝ่ายจำเลยผิด จึงได้รับรถโจทก์ไปซ่อมให้ ได้มีการไปทำบันทึกกันที่สถานีตำรวจมีข้อความตอนหนึ่งว่า ส่วนค่าเสียหายนอกจากการซ่อมซึ่งบริษัทประกันภัยรับผิดชอบ ตัวแทนของโจทก์จะไปเจรจาตกลงกันเองกับจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของรถคันที่เป็นฝ่ายชนต่อไป บันทึกนี้เป็นเพียงบันทึกระหว่างตัวแทนโจทก์กับตัวแทนบริษัทประกันภัยเท่านั้น โจทก์หามีหน้าที่แจ้งให้จำเลยทราบไม่
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2516)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2509 โจทก์ได้ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยาง และได้รับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2510 ดังนั้นระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2509 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2510 โจทก์จึงเป็นหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2509 โจทก์ได้เช่าซื้อรถยนต์เลขทะเบียน ก.ท.ร.21990 เพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2510 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขับรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน ก.ท.ข. 02840 เพื่อประโยชน์ของนายจ้างด้วยความประมาทชนรถยนต์ ก.ท.ร.21990 เสียหาย เข้าซ่อม 40 วัน โจทก์ต้องเช่ารถยนต์รับจ้างใช้ประโยชน์วันละ 250 บาท เป็นเงิน 10,000 บาท และทำให้รถยนต์เสื่อมราคาไป 20,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ทิ้งฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายประมาท โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์เลขทะเบียน ก.ท.ร.21990 จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกและไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันและแทนกันใช้ค่าขาดผลประโยชน์ในการใช้รถ 10,000 บาท ค่าเสื่อมราคา 2,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาต่อมา
ในปัญหาที่ว่าโจทก์ในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะหุ้นส่วนมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดคดีนี้หรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายสถิต ตั้งวาริธร นายพรชัย วัฒนจาวเรือง นายอ๊าหยุด แซ่ตั้ง นายสำราญ จันทร์เสริม และนายซู้เซง แซ่ตั้ง โจทก์ได้ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนกันตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2509 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2509 นายสถิต ตั้งวาริธร โจทก์ ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ร. 21990 เพื่อประโยชน์ในกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น เหตุละเมิดที่ทำให้รถยนต์คันนี้ได้รับความเสียหายเกิดขึ้นโดยการกระทำของฝ่ายจำเลยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2510ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้รับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่4 กรกฎาคม 2510 และโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในเดือนมกราคม 2511 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่าในขณะที่เกิดเหตุละเมิดขึ้นนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ โจทก์ในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดเพราะเหตุละเมิดดังกล่าวข้างต้นได้ และอำนาจฟ้องหรือสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อผู้กระทำละเมิดต่อทรัพย์นั้น เป็นบุคคลสิทธิ มิใช่ทรัพย์สิทธิที่ติดตามไปกับตัวทรัพย์ เมื่อสิทธิดังกล่าวได้เกิดมีขึ้นแล้ว แม้ต่อมาเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางได้จดทะเบียน จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนนั้นก็ตาม อำนาจฟ้องหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็หาโอนไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางด้วยไม่ ดังนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้แจ้งการสงวนสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายให้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนการตกลงประนีประนอมยอมความกัน จึงไม่ผูกมัดจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รถยนต์ของจำเลยที่ชนรถโจทก์ได้ประกันไว้กับบริษัท ร.ส.พ.ประกันภัย จำกัด เมื่อเกิดเหตุแล้ว นายวิเชียรตัวแทนบริษัทประกันภัยไปตรวจเห็นว่ารถฝ่ายจำเลยผิด จึงได้รับรถโจทก์ไปซ่อมให้ ได้มีการไปทำบันทึกกันที่สถานีตำรวจมีข้อความตอนหนึ่งว่า ส่วนค่าเสียหายนอกจากการซ่อมซึ่งบริษัทประกันภัยรับผิดชอบ นายรัตนพิมลตัวแทนของโจทก์จะไปเจรจาตกลงกันเองกับจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของรถคันที่เป็นฝ่ายชนต่อไป ดังนี้ เห็นได้ว่าบันทึกนี้เป็นเพียงบันทึกระหว่างตัวแทนโจทก์กับตัวแทนบริษัทประกันภัยเท่านั้น โจทก์จึงหามีหน้าที่แจ้งให้จำเลยทราบดังที่จำเลยฎีกาไม่
ในเรื่องค่าเสียหายและค่าเสื่อมราคาของรถโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพยานจำเลยไม่อาจหักล้างข้อนำสืบของโจทก์ในประเด็นข้อนี้ได้
พิพากษายืน