แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 45 บัญญัติว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วย บทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความว่าถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 10 อยู่แล้ว ดังนั้น หากลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี แต่นายจ้างไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีและนายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี แม้ขณะฟ้องลูกจ้างยังมีสภาพเป็นลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือให้นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีในทางใดทางหนึ่งได้ ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นซึ่งรวมถึงเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ย่อมไม่ชอบ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุด พักผ่อนประจำปีตามฟ้อง จำเลยให้การว่า จำเลยนำวันหยุดพักผ่อน ประจำปีของโจทก์ไปหักจากวันที่โจทก์ขาดงานและลางานเกินสิทธิ ที่กฎหมายกำหนดไว้หมดแล้ว คำให้การจำเลยดังกล่าวชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามฟ้อง เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด ข้อเท็จจริงส่วนนี้ กรณีจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงาน วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงาน ตำแหน่งช่างปรับเครื่องรีดเหล็ก ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 420 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันเสาร์เว้นวันเสาร์ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานติดต่อกันเกิน 3 ปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 75,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 22 วัน เป็นเงิน 9,240 บาทระหว่างโจทก์ทำงานกับจำเลย จำเลยมิได้จัดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีจำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ปีละ6 วัน โจทก์ขอคิดในเวลา 2 ปี รวม 12 วัน เป็นเงิน 5,040 บาทและขอคิดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 189,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 184,840 บาท นับแต่วันเลิกจ้างแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ลาออกเองโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์นั้นจำเลยนำไปหักจากวันที่โจทก์ขาดงานและลางานเกินสิทธิที่กฎหมายกำหนดหมดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2532โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งช่างปรับเครื่องรีดเหล็กค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 420 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันเสาร์เว้นวันเสาร์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2540 เวลาบ่าย จำเลยเรียกโจทก์เข้าประชุมนายพิชิต เติมวุฒิชัย ผู้จัดการโรงงานกล่าวตำหนิโจทก์เกี่ยวกับการทำงาน โจทก์ไม่พอใจ นางสาวประกายทิพย์ ปราการรัตน์ผู้จัดการฝ่ายบุคคลบอกโจทก์ว่า หากไม่พอใจก็ให้ลาออกไป โจทก์จึงออกจากโรงงานและไม่ได้ไปทำงานอีก กรณียังไม่เป็นการเลิกจ้างเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไปพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยอ้างว่าจำเลยมิได้จัดให้โจทก์หยุดพักผ่อนปีละ 6 วัน รวม 2 ปี เป็นเวลา12 วัน เป็นเงิน 5,040 บาท จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธ จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวให้โจทก์ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่าแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 บัญญัติว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วย บทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความว่า ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 10 อยู่แล้ว ดังนั้น หากลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี แต่นายจ้างไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าให้ลูกจ้างพักผ่อนประจำปีและนายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี แม้ขณะฟ้องลูกจ้างยังมีสภาพเป็นลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือให้นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีในทางใดทางหนึ่งได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2534 ระหว่าง นางสาวสุรีรัตน์ พินธุกนก กับพวกโจทก์ บริษัทเชิดชัยดีเซลราง จำกัด จำเลย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น ซึ่งรวมถึงเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ย่อมไม่ชอบ
ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง จำเลยให้การว่า จำเลยนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ไปหักจากวันที่โจทก์ขาดงานและลางานเกินสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้หมดแล้ว เห็นได้ว่าตามคำให้การดังกล่าวจำเลยให้การต่อสู้ไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงส่วนนี้ กรณีจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่เกี่ยวกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้องหรือไม่เพียงใด แล้วพิพากษาประเด็นข้อนี้ใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง