แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกจ้างยืนอยู่ภายนอกหน้าประตูโรงงานก่อนถึงเวลาเริ่มทำงาน มีรถยนต์ที่แล่นมาตามถนนพุ่งเข้าชนตาย ไม่ถือเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างคำสั่งอุทธรณ์ที่ให้จ่ายเงินทดแทนไม่ถูกต้องศาลเพิกถอนคำสั่งนั้น
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์ที่จำเลยสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานทดแทนให้โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทน36,500 บาท จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะปัญหาที่ว่าคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของจำเลยที่ 10/2519 ลงวันที่ 20 มกราคม 2519ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้และคู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงว่า วันเกิดเหตุเวลา 7 นาฬิกาเศษ ก่อนถึงเวลาทำงานของโรงงานโจทก์ นางสาวหนูนัน ชูช่วย ลูกจ้างโจทก์ยังอยู่ที่ประตูหน้าโรงงานภายนอกบริเวณโรงงาน ได้ถูกรถยนต์บรรทุกที่แล่นมาในถนนแจ้งวัฒนะพุ่งเข้าชนตรงบริเวณหน้าประตูทางเข้าโรงงานถึงแก่ความตายทันที ปัญหาที่ว่า การตายของนางสาวหนูนัน ชูช่วย ลูกจ้างโจทก์ในกรณีเช่นนี้เป็นการประสบอันตรายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2515 หรือไม่นั้น ตามประกาศดังกล่าวในข้อ 2 ระบุไว้ว่า “ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง หรือการป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างและข้อพิพาทในคดีนี้เป็นการพิจารณาว่านางสาวหนูนัน ชูช่วย ลูกจ้างโจทก์ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ การที่จะถือว่าเป็นการทำงานให้นายจ้างต้องเป็นไปตามขอบเขตการจ้างและหน้าที่การงานของลูกจ้าง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นนางสาวหนูนันชูช่วย ลูกจ้างโจทก์เพียงแต่จะเข้าไปทำงานให้นายจ้างในโรงงานตามหน้าที่ก็ได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ภายนอกโรงงาน โดยมีรถยนต์บรทุกแล่นมาตามถนนหน้าโรงงานพุ่งเข้าชนถึงแก่ความตายเสียก่อน ยังมิได้ทำงานใด ๆ ให้แก่นายจ้าง ถือไม่ได้ว่านางสาวหนูนัน ชูช่วย ลูกจ้างโจทก์ ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง คำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของจำเลยที่ให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายเงินทดแทนเพราะนางสาวหนูนัน ชูช่วย ลูกจ้างถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างจึงไม่ถูกต้อง”
พิพากษายืน