คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินจำเลยตั้งอยู่ติดกับร่องน้ำสาธารณะ ประชาชนนำขยะและสิ่งของไปทิ้งจนร่องน้ำตื้นเขิน เป็นที่ราบ ดังนี้ แม้ที่ดินดังกล่าวจะตื้นเขิน มีระดับเสมอกับที่ดินของจำเลย แต่ก็มิใช่ที่งอกริมตลิ่งเพราะมิได้งอก ไปจากที่ดินของจำเลย การที่คลองหรือร่องน้ำสาธารณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทกลายสภาพเป็นที่ตื้นเขิน แม้ต่อมาพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจำเลยเข้าครอบครองปลูกสร้างเพิง สังกะสีแต่ผู้เดียวเมื่อยังไม่มีบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คลองหรือร่องน้ำดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม แม้โจทก์จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุและจำเลยจะได้ครอบครองมาเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะต้องห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินราชพัสดุ 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 26 ตารางวา ตั้งอยู่ที่แขวงวัดสามพระยา เขตพระนครกรุงเทพมหานคร เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคลองสาธารณประโยชน์ไม่มีชื่อ ต่อมาได้ตื้นเขินเป็นพื้นดินประชาชนเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันตั้งแต่ พ.ศ. 2467 ต่อมาปี พ.ศ. 2489 โจทก์ได้เข้ายึดถือครอบครองดูแลเป็นที่หลวงประเภทที่ดินราชพัสดุ ให้นางเป้าผลเอี่ยมเอกเช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยจนถึง พ.ศ. 2515 นางเป้าถึงแก่กรรม โจทก์จึงให้นางสาววลัย มุขวิชิต ซึ่งเป็นหลานของนางเป้าเช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยตลอดมาจนถึงปัจจุบันจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ 131 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยาเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดือนกุมภาพันธ์ 2526 จำเลยได้ต่อเติมอาคารเลขที่ 131 รุกล้ำเข้าในที่ดินดังกล่าวของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ 7 ตารางว่า และยึดถือครอบครองตลอดมา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินราชพัสดุของโจทก์โดยให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำออกไป
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทจะเป็นของโจทก์หรือไม่จำเลยไม่ทราบหากที่ดินแปลที่โจทก์ฟ้องเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเข้ายึดถือครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเอาที่ดินดังกล่าวไปให้คนอื่นเช่าหากให้เช่าก็ตกเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและผู้ครอบครองอาคารเลขที่ 131 และได้ต่อเติมอาคารดังกล่าวเข้าไปในที่งอดริมตลิ่งมีเนื้อที่ 5 ตารางวา แล้วเข้ายึดถือครอบครองโดยสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทโดยให้จำเลยรื้ออาคารส่วนที่รุกล้ำ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่พิพาทเดิมเป็นคลองหรือร่องน้ำเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อตื้นเขินจนเป็นที่ราบซึ่งเกิดจากมีประชาชนนำขยะหรือสิ่งของไปทิ้ง จึงไม่ใช่ที่งอดริมตลิ่งแม้จำเลยจะเข้ายึดถือครอบครอง แต่ที่พิพาทก็ยังมีสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่ตามเดิมเพราะยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพยังคงเป็นที่ดินของหลวงกระทรวงการคลังมีอำนาจและหน้าที่ดูแล ต่อมากระทรวงการคลังได้จัดวางระเบียบการปกครองและจัดประโยชน์ที่ดินสิ่งปลูกสร้างพุทธศักราช 2485 ให้คลองสาธารณประโยชน์ที่เลิกใช้แล้วเป็นที่ดินราชพัสดุและยังมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยไม่อาจยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้ได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นคลองหรือร่องน้ำซึ่งเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ต่อมาได้ตื้นเขินเป็นที่ราบ บิดาจำเลยได้ก่อสร้างเพิ่งต่อจากตึกแถวเลขที่ 131 ของจำเลยเข้าไปในที่ราบนั้นคิดเป็นเนื้อที่7 ตารางวา มากว่า 10 ปีแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาเป็นประการแรกว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นที่งอดออกจากที่ดินของจำเลยและจำเลยครอบครองมานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว… เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะตื้นเขินมีระดับเสมอกับที่ดินของจำเลยแต่ก็มิใช่ที่งอดริมตลิ่งเพราะมิได้งอดออกไปจากที่ดินของจำเลย การที่คลองหรือร่องน้ำสาธารณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทกลายสภาพเป็นที่ตื้นเขินเช่นนี้ แม้ต่อมาพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจำเลยเข้าครอบครองปลูกสร้างเพิงสังกะสีแต่ผู้เดียว เมื่อปรากฏว่ายังมิได้มีบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับผลเมืองใช้ร่วมกัน คลองหรือร่องน้ำดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม ได้ความว่าต่อมาโจทก์ได้จัดวางระเบียบเกี่ยวกับการปกครองและจัดประโยชน์ที่ดินสิ่งปลูกสร้างราชพัสดุโดยแก้ไขเพิ่มเติมให้ดีและรัดกุมยิ่งขึ้น ตามระเบียบการปกครองและจัดประโยชน์ที่ดินสิ่งปลูกสร้างราชพัสดุเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 3 ระบุว่า ที่ดินราชพัสดุหมายความว่าที่สาธารณประโยชน์เลิกใช้แล้ว ดังนั้น ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคลองหรือร่องน้ำสาธารณประโยชน์ที่เลิกใช้แล้วจึงเป็นราชพัสดุและอยู่ในอำนาจการจัดการของโจทก์ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทไว้ว่าเป็นที่ดินราชพัสดุ แสดงว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ได้ยึดถือหวงกัน จำเลยครอบครองมานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เห็นว่าที่ดินพิพาทยังเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ แม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุและจำเลยจะได้ครอบครองมาเกิน10 ปีแล้ว จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะต้องห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้…”
พิพากษายืน.

Share