คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2499/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานที่ตอบโจทก์ถามติงซึ่งไม่ปรากฏในชั้นที่พยานเบิกความตอบคำถามค้าน จะนำมาเป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ไม่ได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 118 ซึ่งต้องนำมาใช้กับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 บัญญัติว่าในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามติงพยาน ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามอื่นใดนอกจากคำถามที่เกี่ยวกับคำพยานเบิกความตอบคำถามค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยมีอาวุธปืนพกลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 2 กระบอกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ กับมีเครื่องกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 7 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและจำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และเมื่อสิบตำรวจตรียงยุทธ ตั๋นคำ พร้อมกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดต่อกฎหมาย พบจำเลยและขอตรวจค้นอันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยต่อสู้และขัดขวางในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืนข้างต้นยิงสิบตำรวจตรียงยุทธ 1 นัด โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกสิบตำรวจตรียงยุทธ เนื่องจากหลบทัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 289 ประกอบด้วยมาตรา 80, 371, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 371พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือน ริบอาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ตามทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าสิบตำรวจตรียงยุทธ และสิบตำรวจตรีสังคมพยานโจทก์ได้แสดงหลักฐานหรือบอกกล่าวแก่จำเลยขณะจะเข้าตรวจค้นว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกระทำการตามหน้าที่ทั้งที่พยานโจทก์ทั้งสองกับจำเลยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เมื่อข้อเท็จจริงก็ฟังได้ตามคำพยานโจทก์ทั้งสองด้วยว่าพยานต่างมิได้แต่งเครื่องแบบตำรวจ จำเลยจึงไม่มีทางรู้ได้ว่าสิบตำรวจตรียงยุทธ และสิบตำรวจตรีสังคม เป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งจะปฏิบัติตามหน้าที่ พฤติการณ์ที่มีชายแปลกหน้า 2 คน เดินตรงเข้าหาจำเลยขณะจำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าจอดที่หน้าร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ จึงอาจทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าจะเข้ามาทำร้าย และเมื่อจำเลยวิ่งหนี ชายดังกล่าวก็วิ่งไล่หมายจับกุมเช่นนี้ เห็นว่า แม้จำเลยจะได้ต่อสู้ขัดขวางไม่ให้จับกุม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ดังโจทก์ฟ้องไม่ ที่โจทก์อ้างมาในฎีกาว่า พยานโจทก์เบิกความไว้ชัดเจนว่า ขณะวิ่งไล่จับกุมจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นแล้วนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏตามคำเบิกความของสิบตำรวจตรียงยุทธตอบพนักงานอัยการผู้แทนโจทก์ถามติง แต่ในชั้นพยานเบิกความตอบคำถามซักและคำถามค้าน หาปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 118 ซึ่งต้องนำมาใช้กับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 บัญญัติว่าในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามติงพยาน ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามอื่นใดนอกจากคำถามที่เกี่ยวกับคำพยานเบิกความตอบคำถามค้าน ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจยกเอาคำเบิกความของสิบตำรวจตรียงยุทธ ที่ว่าได้แจ้งให้จำเลยทราบว่า พยานเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วมาเป็นประโยชน์แก่คดีโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share