คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497-2500/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่โจทก์และจำเลยต่างฟ้องซึ่งกันและกันโดยกล่าวอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งประมาทและให้รับผิดฐานละเมิดซึ่งจำเลยเรียกค่าเสียหายเพียง 800 บาทเศษนั้นเมื่อศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยประมาทฝ่ายเดียวและให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียวหรือเป็นความประมาทร่วมกันของจำเลยและโจทก์ เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 มาตรา 3 ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้
พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 ส่วนที่ 5ว่าด้วยความปราศจากภัยแห่งประชาชน มาตรา 72, 88 บัญญัติว่า เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญ ให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำรางกั้นขวางถนนหรือทางนั้น ๆ ตามควรแก่การพนักงานรถไฟคนใดละเลยไม่กระทำตามหน้าที่โดยประมาทท่านว่ามีความผิด ดังนี้การรถไฟ ฯ จำเลยผู้ดำเนินกิจการรถไฟมีหน้าที่ต้องป้องกันภัยในการที่จะเดินรถไฟผ่านถนนสายนั้นๆ
ตรงที่เกิดเหตุเป็นที่ซึ่งถนนตัดกับทางรถไฟ จำเลยได้ทำเครื่องกั้นถนนไว้โดยใช้คนหมุนขึ้นลงปิดกั้นถนนขณะรถไฟแล่นผ่าน แต่ขณะเกิดเหตุพนักงานของจำเลยละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ โดยไม่ปิดเครื่องกั้นถนน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายที่ประสงค์จะปกป้องอันตรายประชาชน เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์แล่นผ่านเข้าไปถูกรถไฟของจำเลยชนเกิดความเสียหายขึ้น ถือได้ว่าพนักงานของจำเลยประมาทเลินเล่อ เพราะฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดด้วย

ย่อยาว

คดีสามสำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการรถไฟและรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้ทำประตูหรือโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2517 โจทก์ที่ 1 ได้ขับรถยนต์ ก.ท.ง 9464ของโจทก์ที่ 1 โดยมีเด็กชายสมศักดิ์บุตรโจทก์ที่ 3 ที่ 4 กับเด็กชายสัญชัยบุตรโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยสารไปตามถนนงามวงศ์วานตัดกับทางรถไฟสายเหนือ จำเลยหรือพนักงานจำเลยมีหน้าที่เลื่อนราวหรือเครื่องปิดกั้นขวางถนนรถยนต์เมื่อขณะขบวนรถไฟจะแล่นผ่าน แต่โดยความประมาทเลินเล่อมิได้เลื่อนราวหรือเครื่องปิดกั้นและไม่ให้สัญญาณใด ๆ โจทก์ที่ 1 ไม่ทราบว่ารถไฟกำลังจะแล่นผ่าน ได้ขับรถยนต์ตัดข้ามทางรถไฟ ขบวนรถไฟจึงชนรถโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส เด็กชายสมศักดิ์และเด็กชายสัญชัยเสียชีวิต ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 325,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยในคดี 3 สำนวนแรกให้การว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุคนปิดเปิดเครื่องกั้นถนนของจำเลยป่วยอย่างกระทันหันไม่สามารถปิดกั้นถนนได้ พนักงานขับรถไฟได้ใช้ความระมัดระวังแล้วด้วยการใช้ไฟหน้าส่องทางและเปิดหวีดสัญญาณเตือนหลายครั้ง โจทก์ที่ 1 ขับรถประมาทมิได้ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรที่บังคับให้รถยนต์หยุดให้รถไฟไปก่อนซึ่งมีอยู่ที่ทางตัดผ่านระหว่างทางรถยนต์กับทางรถไฟ และมิได้ระมัดระวังสังเกตุว่าขณะนั้นรถไฟกำลังแล่นมาหรือไม่ ได้ขับรถตัดหน้าขบวนรถไฟในระยะกระชั้นชิดสุดวิสัยที่พนักงานขับรถไฟจะหยุดรถได้ทัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ จำเลยอยู่ในฐานะนายจ้างโจทก์มิได้ฟ้องลูกจ้างของจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คดีสำนวนที่ 4 การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 1 ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลข ก.ท.ง. 9464 ไปตามถนนงามวงศ์วาน เป็นเวลาเดียวกับที่ขบวนรถไฟที่ 654 มาใกล้จะถึงที่เกิดเหตุ พนักงานขับรถได้ใช้ไฟฉายหน้ารถจักรส่องทางและเปิดหวีดสัญญาณเตือน แต่โจทก์ที่ 1 ประมาทมิได้หยุดรถตามป้ายเครื่องหมายการจราจรที่ติดตั้งอยู่ข้างถนนก่อนจะถึงทางตัดกับทางรถไฟเพื่อให้ขบวนรถไฟผ่านไปก่อนกลับขับรถตัดหน้ารถจักรในระยะกระชั้นชิด สุดวิสัยที่พนักงานขับรถไฟจะหยุดขบวนรถได้ทัน จึงเกิดเหตุชนกัน รถจักรของจำเลยเสียหาย ขอให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ที่ 1 ให้การว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่มิได้เลื่อนราวหรือเครื่องปิดกั้นถนนตรงที่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 1มิได้ประมาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำนวนที่ 2 และที่ 3 ให้ยกฟ้องจำเลยสำนวนที่ 4
จำเลยอุทธรณ์ทุกสำนวน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ที่ 1 มีส่วนก่อเหตุละเมิดด้วย ให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหาย 3 ใน 4 ส่วน และโจทก์ที่ 1 รับผิด 1 ใน 4 ส่วน พิพากษาแก้จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ตรงที่ทางรถไฟตัดกับถนนงามวงศ์วานมีรางรถไฟตัดกับถนน 2 ราง ตามปกติถ้ารถไฟแล่นผ่านจะมีเครื่องกั้นถนนเป็นคานเสาไม้ทั้งสองข้างทาง แต่ขณะที่รถไฟจะแล่นผ่าน (ในขณะเกิดเหตุ)ไม่มีการกั้นถนน ข้างหน้า โจทก์มีรถยนต์ 2 คันแล่นอยู่บนถนนที่ตัดกับทางรถไฟ โจทก์ขับรถไปถึงทางรถไฟก็ถูกรถไฟชนได้รับความเสียหาย แล้ววินิจฉัยว่าในสำนวนที่ 4 ที่การรถไฟเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 1 เรียกค่าเสียหาย 865.07บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต่างกัน ซึ่งศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3ข้ออุทธรณ์ ของจำเลยที่ว่าเหตุที่รถชนกันเป็นความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียวหรือเป็นความประมาทร่วมของทั้งฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจทก์นั้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
ปัญหาที่ว่า เหตุที่รถชนกันเป็นความประมาทของฝ่ายใด ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 ส่วนที่ 5 ว่าด้วยความปราศจากภัยแห่งประชาชน มาตรา 72, 88 บัญญัติว่า เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำรางกั้นขวางถนนหรือทางนั้น ๆ ตามควรแก่การ และพนักงานรถไฟคนใดละเลยไม่กระทำตามหน้าที่โดยประมาทท่านว่ามีความผิด ดังนี้จำเลยผู้ดำเนินกิจการรถไฟมีหน้าที่ต้องป้องกันภัยในการที่จะเดินรถไฟผ่านถนนสายนั้น ๆ ได้ ความว่าตรงที่เกิดเหตุจำเลยได้ทำเครื่องกั้นถนนเป็นคานเสาไม้ยาวตลอดถนน โดยใช้คนหมุนเครื่องกั้นขึ้นลงปิดกั้นถนนขณะรถไฟแล่นผ่าน เพื่อมิให้ยานพาหนะหรือบุคคลผ่านแต่ในขณะเกิดเหตุปรากฏว่านายบุญส่งพนักงานของจำเลยมิได้ปิดเครื่องกั้นถนน พนักงานรถไฟของจำเลยจึงขับรถไฟแล่นผ่านมาชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ทั้งนี้เนื่องจากนายบุญส่งละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่ปิดเครื่องกั้นถนนอันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายที่ประสงค์จะปกป้องอันตรายประชาชนจึงได้เกิดความเสียหายขึ้นเนื่องจากรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ถูกชน ถือได้ว่านายบุญส่งประมาทเลินเล่อเพราะฝ่าฝืนกฎหมายจำเลยเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดครั้งนี้ด้วยแล้ววินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ประมาท
พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สำนวนที่ 4 โดยให้บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share