แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทราบว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2มาจำหน่าย และจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าซื้อช่วงรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปจากโจทก์ได้แต่การที่โจทก์เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งถือเป็นพ่อค้าตามความหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 โดยสุจริต โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชดใช้ราคารยนต์ที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันประกอบกิจการค้ารถยนต์เพื่อหากำไรโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 2 ได้เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนในการจำหน่ายรถยนต์ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้จนครบตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนรถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ยึดรถยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อดังกล่าวคืนขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ จำนวน712,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน200,000 บาท แก่โจทก์ และค่าเสียหายอีกวันละ 2,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะส่งมอบและโอนทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้ประกอบกิจการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการทำสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2มิได้เป็นตัวการที่ตั้งหรือเชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์คันพิพาทซึ่งเป็นรถยนต์ใหม่ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้ออันเป็นทางการค้าปกติของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เอง โดยจำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ว่าจะนำรถคันนี้ออกให้โจทก์เช่าซื้อช่วง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์บรรทุกยี่ห้อมีตซูบิซิฟูโซ่ คันหมายเลขทะเบียน 81-0285 ชลบุรีคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยและไปจดทะเบียนโอนชื่อผู้ครอบครองเป็นชื่อโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ถ้าไม่สามารถส่งคืนรถยนต์หรือโอนทะเบียนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเช่าซื้อจำนวน712,500 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000บาท พร้อมค่าเสียหายอีกวันละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์จนกว่าจำเลยที่ 2 จะส่งมอบและโอนทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1นำรถยนต์พิพาทไปให้โจทก์เช่าซื้อช่วงได้ และโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยึดรถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความจากนายพงษ์ศักดิ์ ภักดิ์ศรานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสินเชื่อและนายนันทศักดิ์ ฉิมเพชร เจ้าหน้าที่สินเชื่อของจำเลยที่ 2ว่า จำเลยที่ 2 จัดจำหน่ายรถยนต์โดยตรงและผ่านตัวแทนในประเทศตามปกติแล้วจำเลยที่ 2 จะให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งตัวแทนเช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 2 ด้วย แต่ถ้าตัวแทนจะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปให้เช่าซื้อช่วง ก็ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ก่อนและโจทก์เองก็เบิกความรับรองว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2และโจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือให้ความยินยอมของจำเลยที่ 2 ซึ่งหนังสือให้ความยินยอมของจำเลยที่ 2 มีข้อความระบุไว้ว่า”การเช่าซื้อช่วงมีผลผูกพันระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้นไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2แต่อย่างใด” ข้อความดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ที่จะเข้ามีส่วนรับผิดชอบต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อีกทั้งยืนยันได้ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันกับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาเช่าซื้อที่ได้ทำไว้กับจำเลยที่ 2 ทั้งได้มีการบอกเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยที่ 2จึงมีสิทธิยึดรถยนต์ค้นพิพาทคืนจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2ไม่เป็นการละเมิดโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 แต่การที่โจทก์เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้าตามความหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 โดยสุจริต แม้รถยนต์คันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมมีสิทธิจะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเช่าซื้อจำนวน 712,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย