คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 157 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด…” อันถือว่าเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวน มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 โจทก์แจ้งความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำร้ายร่างกายโจทก์จนได้รับอันตรายสาหัส และลักทรัพย์ 450 บาทไป จำเลยที่ 4 หารับคำร้องทุกข์ของโจทก์ไม่เท่านั้น แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2009/2549 ของศาลแขวงพระนครเหนือ แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 157, 173, 174, 177, 181, 297, 309, 310
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 และมาตรา 177 สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 สำหรับจำเลยที่ 3 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และสำหรับจำเลยที่ 4 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เฉพาะส่วนการไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 309 และ 310 ไว้อีกข้อหาหนึ่ง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง และมาตรา 177 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท และฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญา จำคุก 1 ปี และปรับ 7,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งพนักงานสอบสวน ไม่รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงมีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด…” อันถือว่าเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งพนักงานสอบสวน มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 โจทก์แจ้งความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำร้ายร่างกายโจทก์จนได้รับอันตรายสาหัส และลักทรัพย์ 450 บาทไป จำเลยที่ 4 หารับคำร้องทุกข์ของโจทก์ไม่เท่านั้น แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share