แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย ทายาทร้องสอดเข้ามาขอให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นการร้องสอดเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)ซึ่งตามมาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ฉะนั้น ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ทั้งสิบสองไม่มีสิทธิร่วมกันฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ทั้งสองประเด็น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายกลิ้งสุภาเลิศขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่า นายกลิ้ง สุภาเลิศ ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางหน้อยหรือน้อย ไชยาวุฒิหรือสุภาเลิศ พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2525 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนการโอนรับมรดกของนางหน้อยและนายกลิ้ง กับคืนทรัพย์เหล่านั้นให้โจทก์ตามฟ้องถ้าไม่คืนให้จำเลยจ่ายเงินตามฟ้องจำนวน 85,000 บาท
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ผู้ร้องสอดทั้งห้าขอเข้าเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) โดยอ้างว่าเป็นผู้รับทรัพย์มรดกของนายกลิ้งตามพินัยกรรม นายกลิ้งไม่ได้ยักย้ายปิดบังมรดกของนางหน้อย ขณะทำพินัยกรรม นายกลิ้งมีสติสัมปชัญญะรู้ผิดชอบดี พินัยกรรมดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่โมฆะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ได้บรรยายว่าขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกอย่างไรคนละเท่าใด ตามสิทธิของโจทก์แต่ละคน กลับเรียกเอาจำนวน 85,000บาท คลุม ๆ ไป จำเลยปฏิเสธหรือยัง โต้แย้งสิทธิแล้วหรือไม่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องรวมกันเพราะเป็นเรื่องแต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัวขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งห้าเข้าเป็นคู่ความในคดีได้
โจทก์ทั้งสิบสองให้การแก้คำร้องสอดว่า ข้อเท็จจริงเป็นดังคำฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการฟ้องว่านายกลิ้งถูกกำจัดและพินัยกรรมปลอมเป็นโมฆะ โจทก์ฟ้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมมีส่วนคนละเท่า ๆ กัน ขอให้ยกคำร้องสอด
ก่อนสืบพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายผู้ร้องสอดแถลงรับกันว่า บัญชีเครือญาติหลังรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและผู้ร้องสอดแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 1 ใน 30 ส่วน หรือคิดเป็นเงิน 3,690.83 บาท ให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1 ใน 50 ส่วน หรือคิดเป็นเงินคนละ 2,214.50 บาทยกฟ้องโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 12
ผู้ร้องสอดทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและผู้ร้องสอดทั้งห้าแบ่งที่ดินมรดกของนางหน้อยหรือน้อย ไชยาวุฒิหรือสุภาเลิศ ตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 โดยขายที่ดินมรดกของนางหน้อยได้เงินเท่าใดให้หักค่าปลงศพ 50,000 บาท ออกเป็นมรดกของนางกลิ้ง สุภาเลิศ ส่วนที่เหลือแบ่งให้นายกลิ้งกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งแบ่งให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 1 ใน 15 ส่วน แบ่งให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1 ใน 25 ส่วน นอกจากทีแ่ก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องสอดทั้งห้าฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องสอดทั้งห้าฎีกาเป็นข้อแรกว่าผู้ร้องสอดมีสิทธิให้การต่อสู้คดีโจทก์ได้ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ทั้งสิบสองไม่มีอำนาจฟ้องร่วมกันมาเป็นคดีเดียวกันได้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดทั้งห้าใน 2 ประเด็นนี้จึงไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องสอดทั้งห้าร้องสอดเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ซึ่งตามมาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้ร้องสอดทั้งห้ามีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ฯลฯ ฉะนั้น ผู้ร้องสอดทั้งห้าจึงมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ทั้งสิบสองไม่มีสิทธิร่วมกันฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ทั้งสองประเด็น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดทั้งสองประเด็นดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ โดยศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียว พิเคราะห์แล้ว ในข้อที่ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น…หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งสิบสองสามารถร่วมกันฟ้องมาในคดีเดียวกันได้หรือไม่นั้นเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ทุกคนเป็นทายาทในทรัพย์มรดกรายเดียวกันเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีโจทก์ทั้งสิบสองจึงชอบที่จะฟ้องรวมกันมาในคดีเดียวกันได้ ผู้ร้องสอดทั้งห้าฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกิดคำขอนั้น เห็นว่าโจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกส่วนของนางหน้อยทั้งหมด อ้างว่าตนเป็นทายาทโดยธรรมของนางหน้อย นายกลิ้งสามีของนางหน้อยถูกจำกัดมิให้รับมรดกส่วนของนางหน้อย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นายกลิ้งไม่ได้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนของนางหน้อย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4มีสิทธิ์ได้รับทรัพย์มรดกของนางหน้อยแต่เพียงบางส่วน ศาลได้พิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับส่วนแบ่งมรดกของนางหน้อยตามส่วนที่แต่ละคนจะได้รับจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) ฎีกาผู้ร้องสอดทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.