คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2485/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป สั่งจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 หรือผู้ถือ ย่อมเปลี่ยนมือได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาขายลดเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวให้โจทก์ โดยได้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวให้โจทก์ โดยได้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับโอนให้โจทก์และโจทก์ได้ชำระเงินค่าขายลดเช็คให้จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันทำสัญญาขายลดเช็คและมอบเช็คที่จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ร่วมกันเป็นผู้สั่งจ่ายรวม ๕ ฉบับไว้กับโจทก์ รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันสลักหลังเช็คทั้ง ๕ ฉบับ แต่ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ ขอศาลบังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายลดเช็คกับโจทก์
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ออกเช็คทั้งห้าฉบับเป็นการประกันหนี้และชำระหนี้นั้นแล้ว จึงไม่มีมูลหนี้ โจทก์ทราบเรื่องดี แต่รับโอนเช็คไว้โดยไม่สุจริตจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๔ ที่ ๕
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินตามเช็คหมาย จ.๑๑ จำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท หมาย จ.๑๒ จำนวนเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี แก่โจทก์และให้จำเลยที่๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมชำระเงินแก่โจทก์ตามเช็คหมาย จ.๕, จ.๗, จ.๙ จำนวนเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท , ๒๕๐,๐๐๐ บาท และ ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ รับผิดชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เช็คหมาย จ.๑๑, จ.๑๒ แก่โจทก์ด้วย
จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ฎีกาข้อต่อไปว่า โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทในนามของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้รับเงินตามเช็คเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ เช็คพิพาทจึงยังไม่ได้เปลี่ยนมือ โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค ไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่าเช็คพิพาทหมาย จ.๑๑ และ จ.๑๒ เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป สั่งจ่ายเงินให้จำเลยที่ ๑ หรือผู้ถือ ย่อมเปลี่ยนมือได้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ได้ทำสัญญาขายลดเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวให้โจทก์ โดยได้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับโอนให้โจทก์ และโจทก์ได้ชำระเงินค่าขายลดเช็คให้จำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คหมาย จ.๑๑ และ จ.๑๒ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๔ แม้นายลิขิตพยานโจทก์จะเบิกความว่า ได้เรียกเก็บเงินตามเช็คในนามของจำเลยที่ ๑ และเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ และธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น คงหมายถึงเช็คหมาย จ.๕, จ.๗ และจ.๙ ซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมมีข้อความว่า A/C Payee only เป็นทำนองห้ามเปลี่ยนมือเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คให้รับผิดได้
พิพากษายืน

Share